ผักกาดหอม
ไม่ได้ขู่ห้ามมาม็อบนะ
แต่ก็ไม่อยากให้ตื่นตระหนก
เพราะช่วงนี้ระวัง! โควิดระบาดมากกว่าตัวเลขที่เห็น
ก็เตือนๆ กันไว้….
เลิกเที่ยวผับ เลิกไปที่ที่มีคนเยอะๆ สักพัก
เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและคนรอบข้าง
ช่วงนี้หลายโรงพยาบาล มีคนขอตรวจโควิดหนาตากว่าปกติ ได้ข้อมูลมาคร่าวๆ ส่วนใหญ่ขอตรวจด้วยเหตุผล มีความเสี่ยงจากการไปในที่ที่มีผู้ป่วยยืนยัน
ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายจุดหลายจังหวัด
เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะ การระบาดเป็นลักษณะกระจาย
เฟซบุ๊ก Thiravat Hemachudha ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ ลองอ่านดู….
ระลอก ๓ ขณะนี้ เข้าตามคุณสมบัติ แล้ว คือ คนติดเชื้อไม่มีอาการ กระจายไปทั่วแล้ว
รอสัญญาณสุดท้าย การออกอาการ ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ที่เป็นอาการหนัก
—————–
ตัวเลขจริง น่าจะมากกว่า ทั้งที่ไม่รู้ตัว ว่าติด และไม่ได้ตรวจ
ยอดพุ่งเพิ่ม! ไทยพบติดโควิดใหม่ ๒๕๐ ราย ติดในประเทศ ๒๔๕ ราย ตรวจพบเจอใน กทม. มากสุดถึง ๑๕๖ ราย
—————–
การตรวจที่ รพ.ต่างๆ ขณะนี้ ผลเป็นบวกเยอะมาก แบบมีเชื้อ
และที่แยงจมูกครั้งแรกไม่เจอ ก็สรุปไม่ได้ ต้องแยงต่ออีก ๒-๓ ครั้ง ใน ๑๐ วัน และผลอีก ๒-๓ วันจึงจะทราบ
ทางที่ดี ถ้ามีความเสี่ยง แยกตัว ดีที่สุด ที่บ้าน และมาตรวจที่ ๗-๑๐ วัน
คนที่พบมีเชื้อไปแล้ว ถ้าไม่มีอาการ และเอกซเรย์ปอดไม่มีปอดบวม (เพราะโควิดมีปอดบวมโดยไม่มีอาการได้)
แยกตัวต่อ และกลับมา รพ.ทันทีที่อาการเปลี่ยน
ไม่เช่นนั้น รพ.ล้นหลาม
—————-
ครับ…คราวนี้จะยากกว่าสมุทรสาคร ก็อย่างที่บอก ระบาดกระจาย
โดยสรุปอีกประมาณ ๓-๔ วัน ภาพจะปรากฏชัดขึ้น หากวันนี้ทุกคนการ์ดไม่ตกนับไปอีก ๑ เดือนน่าจะเอาอยู่ แต่ถ้าเผลอเมื่อไหร่ก็วนลูปเดิม
ฉะนั้นหลังจากนี้ภาระจะไปตกหนักที่รัฐบาลแล้วครับ แผนฉีดวัคซีนต้องปรับใหม่อย่างเร่งด่วน
และต้องฉีดปูพรมในทันทีให้ ครอบคลุม รวดเร็ว ที่สุดเท่าที่จะทำได้
การรอฉีดล็อตใหญ่เดือน พฤษภาคม อาจไม่ทันการณ์แล้ว
นั่นหมายความว่าแผนการจัดหาวัคซีนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย
นี่คืองานช้าง!
จะเอาวัคซีนมาจากไหน
ไทม์ไลน์ต้องขยับ
จากเดิมเมษายน ๑ ล้านโดส จาก Sinovac Biotech
พฤษภาคม ๒๖ ล้านโดส ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
เป็นไปได้หรือไม่กลางเมษายน หลังสงกรานต์ เป็นต้นไป กระหน่ำฉีดเป็นล้านๆ โดสในเวลาไม่กี่วัน
ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาทางอื่น
หากจำเป็นสุดๆ ต้องล็อกดาวน์ เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทำ
เข้าใจว่ารัฐบาลน่าจะมีข้อมูลจากอาจารย์หมอยง ภู่วรวรรณ อยู่ในมือแล้ว และน่าจะประเมินได้แล้วว่าทำไมถึงต้องปรับแผนฉีดวัคซีนใหม่อีกรอบ
อิสราเอลมีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรสูงสุดในโลก
เริ่มให้วัคซีนตั้งแต่ธันวาคม ๒๕๖๓ ในบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุมากกว่า ๖๕ ปีขึ้นไป ก่อนขยายไปยังกลุ่มอายุต่างๆ
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ฉีดตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไป
ผู้ติดเชื้อที่เคยสูงสุด ๖ พันรายต่อสัปดาห์ เหลือหลักร้อยรายต่อสัปดาห์
อัตราเสียชีวิตเหลือหลักสิบรายต่อสัปดาห์
แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนในประชาชนหมู่มากได้ผลชัดเจนโรคสงบลง
อิสราเอลจึงถือเป็นประเทศต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการฉีดวัคซีนในการควบคุมเชื้อโควิด-๑๙
ส่วนอังกฤษรณรงค์ฉีดวัคซีนต่อเนื่องลดอัตราป่วยและเสียชีวิตลงได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ระบาดรวดเร็ว แต่ไม่กระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน
ต่างจากฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่ฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ อัตราเสียชีวิตยังไม่ลดลง
ในส่วนของฝรั่งเศส รัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดในหลายพื้นที่ และขยายเป็นทั้งประเทศเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ที่ผ่านมา
เวลา ๐๖.๐๐ น. – ๑๙.๐๐ น. ออกจากบ้านได้ไม่เกินรัศมี ๑๐ กิโลเมตร หากเกินระยะทางนี้ ต้องมีเอกสารชี้แจงที่มีการรับรอง
เวลา ๑๙.๐๐ น. – ๐๖.๐๐ น. ประกาศเคอร์ฟิว หากจะออกจากบ้าน ต้องมีเอกสารชี้แจงที่มีการรับรอง
งดรับคนอื่นเข้าบ้าน และไม่ไปบ้านคนอื่น ต้องใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง
ปิดโรงเรียน ถึง ๒๖ เมษายน
ฯลฯ
ขณะที่ทั่วโลกฉีดวัคซีนได้เพียง ๖๕๐ ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ ๖.๕ ของประชากรโลกที่มี ๗ พันล้านคน
มีอัตราการฉีดวันละประมาณ ๑๕ ล้านโดส
หากจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ ๗๐ ของประชากรโลกภายใน ๑ ปีต้องเพิ่มอัตราการฉีดให้ได้วันละ ๓๐ ล้านโดส
สำหรับไทยฉีดไปแล้วร้อยละ ๐.๔ ของพลเมือง
นั่นคือข้อมูลเบื้องต้น ให้รู้ว่าโลกเขาทำอะไรอยู่
แล้วเราต้องทำตามอย่างไร.