นิทานโบราณเรื่องหนึ่งเล่าว่า ฤๅษีรูปหนึ่งเลี้ยงลิงไว้ฝูงหนึ่ง ลิงซุกซนมากจนฤๅษีต้องเฆี่ยนตีอยู่เสมอ
วันหนึ่ง พระราชาเสด็จมานมัสการฤๅษี เห็นฤๅษีตีลิงก็รับสั่งว่า ลิงซนตามธรรมชาติของมัน ไม่ควรต้องเฆี่ยนตี
ฤๅษีก็รับคำว่าจะไม่ตีลิงอีกต่อไป แต่ทูลขอให้พระราชาทรงงดลงอาญาราษฎรด้วย
เมื่อไม่มีการลงอาญา คนร้ายก็กำเริบก่อความเดือดร้อนไปทั่ว
ฤๅษีจึงทูลพระราชาว่า ผู้ที่ไม่อยู่ในระเบียบวินัยย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องมีการลงโทษ
ในภาษาไทยสำนวนเปรียบเทียบว่า ฤๅษีเลี้ยงลิง หมายถึง การปกครองคนหมู่มากที่ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งมักทำให้เกิดความเดือดร้อน
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.