ผักกาดหอม
ใครรู้จักพม่าบ้างยกมือขึ้น?
ครับ…คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก “พม่า” คือแรงงานที่เข้ามาทำงานแทนคนไทย
รู้จักพม่าในประวัติศาสตร์อยุธยา-ธนบุรี
แต่พม่าจริงๆ รู้จัก เฉพาะคนที่สนใจเท่านั้น
พม่าจริงๆ คืออะไร?
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มี ๗ รัฐ
๑.ยะไข่ (Arakan or Rakhine)
๒.ฉิ่น (Chin)
๓.คะฉิ่น (Kachin)
๔.กะเหรี่ยง (Karen)
๕.คะยา (Kayah)
๖.มอญ (Mon)
๗.ฉาน (Shan) เป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่สุด ภาษาวัฒนธรรมใกล้เคียงภาคเหนือของไทยมากที่สุด
และมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยอีกหลายสิบกลุ่ม บางกลุ่มยังถืออาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามาจนถึงวันนี้
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ พม่าบางพื้นที่จะคล้ายกับไทยยุคพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยึดครองบางส่วนบางพื้นที่ในประเทศ
ฉะนั้นชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ จะได้เห็นทั้งกองกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ และกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มาป้วนเปี้ยนคุมเชิงกัน
โชคร้ายก็ปะทะกันนับศพแทบไม่ทัน
ส่วนชาวบ้านถูกลูกหลงประปราย
หรือหากจะเทียบกับยุคนี้ มีส่วนคล้ายกับ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในพื้นที่ที่สงบแล้ว ทหารของรัฐบาลพม่า กับทหารชนกลุ่มน้อย แบ่งโซนแบ่งพื้นที่กันดูแล
พื้นที่ที่ยังไม่สงบ โดยเฉพาะทางตอนเหนือ ยังยิงกันประปราย
นี่คือสิ่งที่คนไทยต้องรู้จักแล้วจะมองพม่าออก
รัฐประหารในพม่า จึงมีเงื่อนไขและวิธีการจัดการต่างจากไทยมาก เพราะปัญหาแทรกซ้อนในไทยน้อยกว่า
หลังรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ไทยถูกบอยคอตจากประเทศในยุโรปและอเมริกา แต่ก็เป็นเพียงน้ำจิ้ม
เพราะการรัฐประหารในไทย ความรุนแรงในชีวิตและทรัพย์สินต่ำมาก ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนหมดศรัทธานักการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย
ต่างจากพม่าที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ไทยไม่มีปัญหาชนกลุ่มน้อยผสมโรง แต่พม่ากำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่
และมีแนวโน้มที่พม่าจะถอยหลังไปอีกสิบๆ ปี มีการเปิดฉากยิงสู้รบระหว่างทหารของรัฐบาลพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย
หากเลวร้ายสุด สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาอาจล่มสลาย คล้ายๆ โซเวียตหลังสงครามเย็น ที่แยกเป็นประเทศเกิดใหม่นับสิบประเทศ
แต่วันนี้ยังยากจะคาดเดา ทุกอย่างขึ้นกับรัฐบาลรัฐประหารของพม่าว่า จะใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกแค่ไหน หรือไม่ อย่างไร
เช่นเดียวกันนับจากวันนี้ไป นโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกี่ยวกับพม่านั้น จะถูกตั้งคำถามตลอดเวลา ว่าจะเอาอย่างไร
เมื่อเห็นปัญหาข้างต้นแล้ว ท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในพม่า ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง จะทำเป็นเด็กเล่นขายของไม่ได้
จะใช้วิธีของพรรคก้าวไกล ซึ่งก็คือเดินตามก้นฝรั่ง กดดันทางเศรษฐกิจ ไม่คบค้าสมาคมด้วย ต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากไทยมีชายแดนติดพม่าถึง ๒,๔๐๑ กิโลเมตร
มีการค้าขายกันโดยตรงจำนวนมหาศาล
หากไทยเป็นฝ่ายปิดชายแดน หยุดค้าขาย ยุโรป-อเมริกา ไม่ได้มารับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับใคร
พรรคก้าวไกลเองไม่มีศักยภาพที่จะมารับผิดชอบอะไรได้
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าไทยนั่งดูทหารพม่าฆ่าประชาชนชาวพม่าไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไร
แต่เราควรใช้วิธีของเรา
และเกิดความเสียหายต่อคนไทยน้อยที่สุด
สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ควรทำอย่างเร็วที่สุด คือนโยบายเชิงรุกใช้ประเทศไทยเป็นเวทีกลางในการเจรจาแก้ปัญหา
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ต่อสายถึงกันไม่ยาก
เช่นเดียวกัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่อสายรัฐบาลในอียู อเมริกา ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย มานั่งคุยที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย ก็ไม่ยากเช่นกัน
นี่ต่างหากคือสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำ
ไม่ใช่คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพราะคนที่จะเดือดร้อนจริงๆ คือชาวพม่า สุดท้ายต้องหนีตายดาบหน้าทะลักเข้าไทย
เข้ามาแล้ว เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิฯ ห้อยโหนเอาหน้า เกิดปัญหากระทบกระทั่งทั้งรัฐบาลไทย และคนไทยตามแนวชายแดน
วุ่นวาย!
แล้วไหนจะโควิดอีก
จะให้รัฐบาลไทยต้องรับภาระหมดทุกอย่างคงไม่ได้
การเอาตามที่พรรคก้าวไกล หรือกลุ่มเอ็นจีโอเสนอ คงไม่ต่างจากเด็กงอแงถูกแย่งของเล่น ขณะที่นโยบายต่างประเทศ ไม่ใช่นโยบายที่ต้องเอาใจชาติอื่น
ต้องยืนบนพื้นฐานผลประโยชน์ของไทยเป็นสำคัญ
แน่นอนว่าการปะทะตามแนวชายแดนระหว่างทหารรัฐบาลพม่า กับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย ต้องมีผู้อพยพ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในวงจำกัด
แต่รัฐบาลไทยต้องเตรียมความพร้อมดูแลเรื่องนี้ไว้ให้ดี หากการปะทะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ
บวกกับปัญหาเศรษฐกิจ ชาวพม่าจะทะลักเข้าไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประเมินว่ารัฐบาลทหารพม่ากระเหี้ยนกระหือรือจะฆ่าประชาชน แต่ในโลกความเป็นจริง ทั้งรัฐบาลทหารพม่า และฝ่ายอองซาน ซูจี อยากจบด้วยการเจรจามากกว่า
เพราะการถลำสังหารประชาชนไปเรื่อยๆ มีแต่จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง และนี่คือช่องว่างที่รัฐบาลไทยสามารถเข้าไปแทรกได้
เด็กๆ รุ่นหลังอาจไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยในอดีตจัดการกับปัญหาในพม่าอย่างไร
ก็ควรรับรู้ไว้เป็นข้อมูล
การก่อการกำเริบ ๘๘๘๘ ในปี ๑๙๘๘ หรือปี ๒๕๓๑ รัฐบาลน้าชาติ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรพม่า
กระทั่งช่วงสิ้นสุดการกักตัวอองซาน ซูจี ช่วงปี ๒๕๕๓ ผ่านรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งหลายรัฐบาล ก็ไม่พบการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของพม่าที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารพม่ามาอย่างยาวนานแต่อย่างใด
กลับกัน ยุครัฐบาลทักษิณกลับค้าขายกับแกนนำเผด็จการทหารพม่าในยุคนั้นด้วยซ้ำ
มีหลักฐานปรากฏมากมาย โดยเฉพาะกรณีทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (exim bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน ๔ พันล้านบาท แก่รัฐบาลทหารพม่า
เป็นการกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ทักษิณเอง
คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกทักษิณ ๓ ปี
ก็เห็นภาพนะครับว่าเราควรจะกำหนดท่าทีต่อสถานการณ์ในพม่าเช่นไร
ที่แน่ๆ วิธีการโง่ๆ ที่ก้าวไกลนำเสนอนั้น จะทำให้คนตามแนวชายแดนเจ็บตัวหนัก
แค่เจอโควิดก็เงยหน้าไม่ขึ้นแล้ว
หากต้องเจอกับผู้อพยพจำนวนมหาศาล
จบเห่แน่.