วัคซีนไม่มีคำว่าตกขบวน

ผักกาดหอม

หรือมันจะเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทย

ทุกเรื่องเรามักจะแบ่งข้างแล้วชี้หน้าด่ากัน

            ใช้อารมณ์เป็นหลัก

            เหตุผลเป็นรอง

            และหลายๆ ครั้ง…ไม่มีเหตุผล

            ประเด็นวัคซีนโควิด-๑๙ จากที่ไม่ควรจะเป็นเรื่อง ก็เอามาถล่มกัน

            เห็นฝ่ายค้านร่ำๆ จะเอาไปซักฟอกรัฐบาลในสภาด้วยเหมือนกัน

            จากที่ “ธนาธร” เปิดประเด็น AstraZeneca-สยามไบโอไซเอนซ์ สามนิ้วรับไม้ต่อเอาไปโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์

            ก็วนเวียนอยู่แค่นั้น

            ข้อมูลที่ถูกเซตขึ้นมาไม่มีการตรวจทานถึงข้อเท็จจริง ความรู้เรื่องวัคซีนของคนกลุ่มนี้จึงหยุดลงที่ สถาบันพระมหากษัตริย์ผูกขาดวัคซีน

            แม้จะมีข้อมูลใหม่มา แต่ยังคงตอกย้ำไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นกรณีที่ถกเถียงกันช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประโคมว่าไทยตกขบวนวัคซีน

            workpointTODAY เป็นผู้จุดประเด็นว่า ไม่ปรากฏประเทศไทยอยู่ในแผนได้รับวัคซีนของโคแวกซ์ (COVAX)

            …เอกสารของโคแวกซ์เปิดเผยว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ มีแผนจะแจกจ่ายวัคซีนโควิด-๑๙ สูตรของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) โดยแบ่งออกเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดย “เอสเค ไบโอไซเอนซ์” (SK  Bioscience) จำนวน ๙๖ ล้านโดส และวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตที่สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India)  อีก ๒๔๐ ล้านโดส

            นอกจากนี้โคแวกซ์ยังคาดว่า น่าจะได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ที่พัฒนาร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) อีก ๑.๒ ล้านโดสด้วย

            การแจกจ่ายในครั้งนี้ โคแวกซ์ระบุว่า มีประเทศที่คาดว่าจะได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า ๑๔๐ ประเทศและดินแดน โดยประเทศเหล่านี้จะถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่

            ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีน (Self-financing participants:  SFP)

            ประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment: AMC)

            โดยประเทศที่อยู่ในส่วนที่ ๒ หรือ AMC จะมีบางประเทศได้รับเงินสนับสนุนจากโคแวกซ์ในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-๑๙ ด้วย ขึ้นอยู่กับสถานะของประเทศนั้นๆ ว่า เข้าเกณฑ์เป็นประเทศยากจนที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่  หากไม่เข้าเกณฑ์ก็ยังต้องใช้งบประมาณซื้อวัคซีนโควิด-๑๙  ในราคาที่ตกลงไว้กับโคแวกซ์อยู่

            จากการตรวจสอบเอกสารประเมินการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-๑๙ ของโคแวกซ์ ที่ออกมาล่าสุดนี้ พบมีชาติอาเซียน ๙  ประเทศอยู่ในแผนที่คาดว่าจะได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ จากโคแวกซ์ โดยแบ่งเป็นชาติที่สั่งซื้อวัคซีน (SFP) ๓ ประเทศ  ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์

            ส่วนอีก ๖ ชาติอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว  เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า (AMC) โดยไม่ปรากฏประเทศไทยอยู่ในรายงานฉบับนี้

            โคแวกซ์ระบุว่า การจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ ในครั้งนี้จะคำนวณตามสัดส่วนประชากรเป็นหลัก โดยคาดว่า ชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง ๙ ชาติจะได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ ตามจำนวนดังต่อไปนี้ ภายในเดือนมิถุนายน

            ประเทศที่จ่ายเงินค่าวัคซีนเอง (SFP)

            บรูไน ๑๐๐,๘๐๐ โดส

            มาเลเซีย ๑,๖๒๔,๘๐๐ โดส

            สิงคโปร์ ๒๘๘,๐๐๐ โดส

            ประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า (AMC)

            กัมพูชา ๑,๒๙๖,๐๐๐ โดส

            อินโดนีเซีย ๑๓,๗๐๘,๘๐๐ โดส

            ลาว ๕๖๔,๐๐๐ โดส

            เมียนมา ๔,๒๒๔,๐๐๐ โดส

            ฟิลิปปินส์ ๕,๖๑๗,๘๐๐ โดส

            เวียดนาม ๔,๘๘๘,๔๐๐ โดส….

            ข้อมูลจาก workpointTODAY ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนครับ เป็นเอกสารของโคแวกซ์

            แต่…หากตัดสินด้วยข้อมูลเพียงแค่นี้ไทยตกขบวนแน่นอน

            เพราะข้อมูลที่ไม่ถูกนำมาเสนอคือ ปริมาณวัคซีนที่คาดการณ์ว่าจะแจกจ่ายทั้งหมด คิดเป็นเฉลี่ยประมาณ ๓.๓%  ของประชากรใน ๑๔๕ ประเทศที่เข้าร่วม

            ฉะนั้นข้อเท็จจริงคือ จำนวนโดสที่ประเทศในอาเซียนยกเว้นไทยได้รับ ต้องหารสอง เพราะต้องฉีด ๒ เข็มต่อ ๑ คน

            ไปดูว่าแต่ละประเทศมีประชากรเท่าไหร่

            แล้วจะเห็นภาพความจริงว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ละประเทศมีขีดความสามารถในการหาวัคซีนมาฉีดให้พลเมืองของตนเองเท่าไหร่

            จึงต้องดูกันยาวๆ จะมาสรุปแค่ไตรมาสแรกของปีแล้วบอกว่าไทยล้าหลังกว่าทุกประเทศในอาเซียนคงไม่ได้

            ข้อมูลที่ขาดไม่ได้ เป้าหมายของโคแวกซ์ คือการหาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ให้ครอบคลุมประชากร  ๒๐% ของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ในสิ้นปีนี้

            หมายความว่า หากประเทศที่ยากจนพึ่งพาแต่วัคซีนในโครงการของ โคแวกซ์ ก็สามารถฉีดให้พลเมืองตนเองจนถึงสิ้นปีนี้เพียง ๒๐% เท่านั้น

            แน่นอน การที่ไทยยังไม่เริ่มฉีดวัคซีนในวันนี้ ขณะที่ประเทศยากจนรอบๆ เริ่มฉีดกันแล้ว ย่อมมีผลด้านจิตวิทยา และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้

            ที่จริงไม่ได้มีไทยประเทศเดียวที่ยังไม่เริ่มต้นฉีดวัคซีน  ญี่ปุ่นก็ยังรีรอ หรือนิวซีแลนด์ เพิ่งจะอนุมัติให้ใช้วัคซีนเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง เริ่มต้นฉีดจริงก็น่าจะประมาณปลายมีนาคม ต้นเมษายน เกาหลีใต้จะฉีดเข็มแรกเร็วสุด กลางเดือนนี้

            การฉีดวัคซีนใช่ว่าจะฉีดตามเสียงเชียร์ได้

            ยกตัวอย่างกลางเดือนมกราคม จีนบริจาควัคซีนซิโนแวคจำนวนกว่า ๑ ล้านโดสให้กัมพูชา ให้เมียนมา ๓ แสนโดส ลาว ๒ พันโดส และเริ่มฉีดกันไปแล้ว

            แต่เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์มานี่เอง ทางการจีนเพิ่งจะอนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนแวคอย่างเป็นทางการ

            ทำให้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค เพิ่งจะสามารถนำไปใช้กับชาวจีนได้

            รัฐบาลไทยตั้งเป้าฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี  ๒๕๖๔ จำนวน ๓๓ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๕๐ ของประชากรทั้งประเทศ

            โดยมีวัคซีนของ AstraZeneca ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นหลัก

            ไตรมาสสองจึงจะเห็นชัดเจนขึ้นว่าศักยภาพของแต่ละประเทศเป็นเช่นไร

            สำหรับไตรมาสแรกเหมือนเป็นการประเดิม

            ใครประเดิมก่อนหลังก็มีเหตุปัจจัยของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

            คล้ายๆ ปี ๒๕๕๗ ที่คนไทยค่อนแคะกันเองว่า คนลาวล้ำหน้าเพราะมี 4G ขณะที่คนไทยยังภูมิใจอยู่กับ 3G อยู่เลย  มาถึงวันนี้คงไม่ต้องพูดถึง

            อย่างไรก็ตามคาดว่า ๒ ล้านโดส จากซิโนแวคจะเข้ามาในอีกไม่กี่วันนี้

            เมื่อวัคซีนโควิดกลายเป็นเรื่องการเมือง รัฐบาลต้องแก้เกม เข็มแรกที่ต้องฉีดคือก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ๑๖  กุมภาพันธ์

            หรือไม่ต้องไปสนใจเลยก็ได้

            เพราะไม่ว่าจะทำยังไงฝ่ายค้านก็หาเรื่องด่าอยู่ดี.

Written By
More from pp
รัฐบาลติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง สนองพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง
7 ก.ค.64 เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง ครั้งที่ 1/2564 (ผ่านระบบ...
Read More
0 replies on “วัคซีนไม่มีคำว่าตกขบวน”