กรมการแพทย์ โดย สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนไดอาซีแพม ส่วนผสมในเคนมผง ใช้เกินขนาดอันตรายถึงตาย ผู้ลักลอบจำหน่ายหรือครอบครองหรือใช้ประโยชน์มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีพบผู้เสียชีวิตจากการใช้ “เคนมผง” และได้มีการนำสารที่พบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบวิเคราะห์แยกสาร และพบว่ามีส่วนผสมของคีตามีน และไดอะซีแพม
ซึ่งไดอะซีแพม หรือ ไดอาซีแพม (Diazepam) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า วาเลียม หรือ แวเลียม (Valium) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 4 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
โดยจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ในทางการแพทย์ใช้ยานี้เป็นยากล่อมประสาทหรือสงบประสาท (Tranquilizer) ทำให้จิตใจสงบ ใช้สำหรับรักษาอาการผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้อาการชัก
ผลข้างเคียงจากการใช้ไดอะซีแพม อาจทำให้มีอาการง่วงซึม เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง มึนงง เห็นภาพหลอน ซึมเศร้า กล้ามเนื้อกระตุก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รวมถึงเกิดอาการชักได้
ทั้งนี้ หากมีการใช้ไดอะซีแพม ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน หรือใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอลล์ จะทำให้เสริมฤทธิ์การกดระบบประสาท หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้
ไดอะซีแพมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ตามความจำเป็น ซึ่งหากมีการลักลอบจำหน่ายต้องระวางโทษจำคุก 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,000,000 และความผิดฐานครอบครองหรือใช้ประโยชน์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ไดอะซีแพม หากใช้ในขนาดสูงเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการดื้อยาและติดยาได้ ซึ่งถ้าหยุดใช้ยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจเกิดอาการชักได้
ซึ่งในกรณีของกลุ่มผู้เสียชีวิตจากการเสพเคนมผง จากผลการตรวจสารที่พบทางห้องปฏิบัติการแบบวิเคราะห์แยกสารของสำนักงานป้องกันและปราบปรรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จากรายงานการตรวจพิสูจน์ 5 ตัวอย่าง พบว่า
สารตัวอย่างมีความเข้มข้นของไดอะซีแพม 93-99% ตกแล้วผู้เสพ 1 คน ใช้แวเลียมถึงคนละ 200 มิลลิกรัม หรือ 100 เม็ด นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11-15 มกราคม 2564 สบยช. พบผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาเคตามีนหรือยาเคนมผง จำนวน 71 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกให้การรักษาแบบ ไป – กลับ จำนวน 56 ราย และผู้ป่วยในพักรักษาตัวภายใน สบยช.จำนวน 15 ราย โดยได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบวิเคราะห์แยกสาร (LC) จำนวน 24 ราย
พบไดอะซีแพม (Diazepam) เป็นส่วนผสมถึง 23 ราย และยังพบส่วนผสมของยาเสพติดชนิดอื่น คือ ยาบ้า/ยาไอซ์ 11 ราย เคตามีน (Ketamine) 9 ราย กระท่อม 4 ราย กัญชา 2 ราย ยาอี 1 รายเฮโรอีน 1 ราย
นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมของยาอื่นๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มยาแก้ปวด tramol 3 ราย ยาแก้ปวดอื่น ๆ 9 รายยาจิตเวช ยาจิตเวช 7 ราย และยาแก้แพ้ 6 ราย ซึ่งผลสารเสพติดที่ตรวจพบสอดคล้องกับสารเสพติดที่ตำรวจตรวจยึดได้
การใช้ยาและสารเสพติดทุกชนิดส่งผลกระทบต่อร่างกาย ร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่
สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ww.pmindat.go.th