ความเหมือน ‘ทรัมป์-ทักษิณ’

ผักกาดหอม

ยังไม่จบ…..

            กลุ่มผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ นัดชุมนุมใหญ่ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วันที่ ๒๐ มกราคมนี้

   จุดประสงค์คือขวางพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน

            ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จนมุม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ของกรุงวอชิงตัน

            สั่งเตรียมกองกำลังทหารตำรวจเพื่อรักษาความปลอดภัยในพิธีสาบานตน มอบหน้าที่หลักให้สำนักงานรับมือและจัดการฉุกเฉินแห่งชาติ (FEMA) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ เป็นผู้ดูแล

            อีกด้านหนึ่ง สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) ประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงอย่างเมืองหลวงของทุกมลรัฐทั่วประเทศ

            รวมถึงกรุงวอชิงตันให้เฝ้าระวัง “เหตุนองเลือด” จากกลุ่มผู้ชุมนุมติดอาวุธที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ไปจนถึงวันที่  ๒๐ มกราคม

            ยังไม่นับโควิด-๑๙ ที่พร้อมจะโจมตี ทุกฝ่ายทุกเวลา


            อเมริกาวันนี้ จึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศก่อนสงครามกลางเมือง

            การปลุกเร้าจากผู้นำทางการเมืองทำให้ประชาชนแตกเป็นฝักฝ่าย ไม่ต่างจากบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาเล่นงานอเมริกา หลังจากเข้าไปสร้างความวุ่นวายทางการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก

            บางประเทศสิ้นชาติไปแล้ว

            บางประเทศยังสู้รบกันอยู่

            ไทยก็เป็นหนึ่งในเหยื่อขบวนการเสี้ยมโดยอเมริกา

            ขณะที่นักการเมืองไทยก็เสี้ยมประชาชนให้รบกันเอง

            ดังที่เห็นการเมืองไทยรอบ ๑๐ กว่าปีมานี้หาความสงบไม่ได้

            อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โพสต์เรื่อง “รู้ทันทักษิณ รู้ทันทรัมป์” ได้น่าสนใจทีเดียว

            …..​พฤติกรรมของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์  ทรัมป์ ที่ปลุกระดมมวลชนสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นที่รัฐสภา หลังความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและต้องการมีอิทธิพลเหนือวุฒิสภาไม่ได้ผล จึงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สมัยระบอบทักษิณเรืองอำนาจ


            ๑.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่ ประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ๒๕๔๐ ขณะที่ผู้คนถวิลหานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาบริหารประเทศ เพราะมุ่งหวังว่าจะได้ช่วยนำพาเศรษฐกิจ

            โดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาหลังวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ที่คนอเมริกันแสวงหาผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมานำพาประเทศ

            ๒.ทั้งทักษิณและทรัมป์ ยึดนโยบายประชานิยม ชาตินิยม ผลประโยชน์ที่ให้เฉพาะกลุ่มคนที่เลือกเขาเป็นหลัก  เหยียดคนกลุ่มน้อยและใช้ความรุนแรง

            ๓.ทั้งสองคนพูดจาโผงผางไม่เกรงกลัวอะไร ใช้ระบบพรรคพวก เอื้อประโยชน์คนรอบข้าง คนในครอบครัวทั้งภรรยา น้องสาว ลูกสาว ลูกเขย มีส่วนในการเข้าแทรกแซงการบริหาร

            ๔.ทักษิณพยายามแทรกแซงวุฒิสภา แจกจ่ายผลประโยชน์ให้ ส.ว. พยายามเปลี่ยนประธานวุฒิสภาและประธานกรรมาธิการให้เป็นคนของตน

            ไม่ต่างอะไรกับทรัมป์ที่แทรกแซงวุฒิสภา พยายามกดดันผ่านรองประธานาธิบดีที่ทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา

            ๕.ทักษิณแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ครอบงำองค์กรอิสระ ถึงกับเคยกล่าวว่า “กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นคนของเรา”

            ทรัมป์พยายามแทรกแซงกระบวนการสอบสวนที่ตรวจสอบพฤติกรรมของตน และสุดท้ายพยายามส่งคนของตนไปเป็นศาลสูงสหรัฐอเมริกา ก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

            ๖.ทั้งทักษิณและทรัมป์แทรกแซงและครอบงำสื่อมวลชน  จนกระทั่งสื่อมวลชนแตกแยกเป็นฝักฝ่าย แยกเป็นสองค่าย กลายเป็นสื่อเลือกข้าง (แดงกับฟ้า)

            ๗.ทักษิณและทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าหลบเลี่ยง ไม่จ่ายภาษีเป็นจำนวนมากมหาศาล และทั้งคู่ก็แอบอ้าง บิดเบือนประเด็นไปว่า ตนจ่ายภาษีมากกว่าใครๆ ในประเทศเสียอีก

            ๘.ทรัมป์และทักษิณเป็นนักธุรกิจระดับเศรษฐีที่นิยม ครอบครองบ้านหลายหลังอยู่ในหลายประเทศ และอวดร่ำอวดรวยไม่ต่างกัน

            ๙.จิตแพทย์หญิงชาวสหรัฐอเมริกาเคยอัดคลิปแสดงความเป็นห่วงว่าทรัมป์น่าจะมีปัญหาทางจิต หากปล่อยให้เป็นผู้นำประเทศบ้านเมืองจะเสียหาย

            เช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งทักษิณดำรงตำแหน่งนายกฯ ของไทย จิตแพทย์ได้เขียนในหนังสือ “รู้ทันทักษิณ” แสดงความเป็นห่วงในพฤติกรรมว่า ผู้นำสมัยนั้นอาจเป็นคนสองบุคลิก และเป็นคนบ้าใหญ่บ้าโต (Megalomania)

            ๑๐.เมื่อจะสูญเสียอำนาจ ทักษิณปลุกระดมคนเสื้อแดง ผ่านวิดีโอคอล “ผมแพ้ไมได้” “ให้ออกมากันให้มากๆ หากมีการใช้กำลัง ให้ปฏิบัติการได้ทันที”

            เช่นเดียวกับทรัมป์เมื่อจะสูญเสียอำนาจก็ปลุกระดมมวลชนมาบุกรัฐสภา โดยใช้วิดีโอคอลเช่นเดียวกับทักษิณ และบอกให้มวลชนต้องแข็งกล้า ไม่ยอมแพ้

            ๑๑.การปลุกระดมของทักษิณและทรัมป์นำมาซึ่งความรุนแรง มีการเผา มีการทำลายทรัพย์สิน มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะของทั้งสองฝ่ายในทั้งสองประเทศ

            ๑๒.แม้ทักษิณและทรัมป์จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว  สังคมของทั้งสองประเทศก็เกิดความแตกแยกแบ่งฝ่ายและมีทีท่าว่าจะลุกลาม ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย  เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต…..

            ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องจริง

            พฤติกรรมของ “ทักษิณ-ทรัมป์” ไม่ต่างจากนักค้าความขัดแย้ง

            วันที่ ๒๐ มกราคมนี้ กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ ประกาศให้ทุกคนถืออาวุธที่ตนเองมีมาด้วย และได้ให้สัญญาว่า “เราจะมากันในจำนวนที่ไม่มีกองทัพหรือหน่วยงานตำรวจใดสามารถเทียบเคียงพวกเราได้”

                “พวกเราหลายคนจะกลับมาในวันที่ ๑๙ มกราคม โดยถืออาวุธของเรา เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของประเทศของเรา และโลกจะไม่มีวันลืม!!!”

            ฟังแล้วคุ้นๆ เหมือนที่ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ประกาศบนเวทีชุมนุมคนเสื้อแดง ก่อนเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง เมื่อปี ๒๕๕๓

                “มาด้วยกัน ขวดแก้วคนละใบ มาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า  บรรจุให้ได้ ๗๕ ซีซีถึง ๑ ลิตร ถ้าเรามา ๑ ล้านคน มีน้ำมัน ๑  ล้านลิตร รับรองว่า กทม.เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน”

            รวมทั้งประโยคนรกของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”

                “เผาเลยครับพี่น้องผมรับผิดชอบเอง”

            ก็จบด้วยการเผาบ้านเผาเมืองตามที่ขู่ไว้จริงๆ

            หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ มีความกังวลมาก  เกรงว่ากลุ่มหัวรุนแรงสนับสนุนทรัมป์ จะใช้ความรุนแรง

            ถึงขั้นจะปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยอาวุธสงคราม

            และก่อจลาจลในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

            ผลที่คล้ายกันนี้ มาจากจุดเริ่มต้นที่คล้ายกัน

            “ทักษิณ-ทรัมป์” ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักธุรกิจ กล้าได้กล้าเสีย และพร้อมที่จะเสี่ยง

            เมื่อการเมืองเป็นเรื่องของการลงทุน จุดจบ….ก็อย่างที่เห็น

            สังคมไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมาแล้วหลายปี

            ส่วนอเมริกา ที่ส่งออกความขัดแย้งไปทั่วโลก

            วันนี้ถึงเวลาต้องชดใช้.

Written By
More from pp
“พลอยทะเล” มองเป็นโอกาสให้ ปชป. ทำตามนโยบายที่หาเสียง สะท้อนเสียงคนรุ่นใหม่ต้องการบรรยากาศการเมืองดี
30 สิงหาคม 2567 นางสาวพลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์ รองโฆษกและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ มองว่า พรรคจะได้มีโอกาสทำงานและสานต่อนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ตามที่ตั้งใจไว้ จากความขัดแย้งในอดีตที่เคยเกิดขึ้นนั้น ทำให้ประชาชนและหลายฝ่ายไม่พอใจ...
Read More
0 replies on “ความเหมือน ‘ทรัมป์-ทักษิณ’”