ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกและประธานกรรมการ เปิดกิจกรรม “TMF Power Fusion” ครั้งที่ 5 รวมความเห็นประชาชน ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “TMF Power Fusion” โดย “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จัดขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้นักศึกษาและประชาชน  5 ภูมิภาค

ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อและผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม

ภายในงานมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมงาน พร้อมด้วย รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย, ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต, นายสมชาย เจริญอำนวยสุข, ดร.ธนกร ศรีสุขใส, ดร. สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน และ นายธวัชชัย ไทยเขียว จัด TMF Talks ในหัวข้อ “การบูรณาการแผนพัฒนา ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕)” และ เสวนาวิชาการ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนร่วม  (วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร)

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่เราอยู่กับสื่อ สื่อในที่นี้คือการส่งข่าวสาร ส่งความหมายไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าไปถึงคนจำนวนมาก เราเรียกว่าสื่อสารมวลชน ถ้าไปถึงคนจำนวนน้อยเราจะเรียกว่าสื่อเฉพาะบุคคล สื่อมวลชนที่มีโอกาสเข้าถึงเนื้อหาสาระทีละมากๆ นับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะถ้าเป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

เช่น สื่อที่เท็จ สื่อที่ระรานผู้อื่น หรือแม้แต่ข่าวสารใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดความจงเกลียดจงชัง เกิดความเป็นศัตรู ทั้งหมดนี้เป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีแต่ทำให้เกิดความแตกร้าว มองหน้ากันไม่ติด เพราะถ้าเกิดความหลงเชื่อกัน ก็อาจจะทำให้เกิดผลร้าย 

วันนี้สื่อมีบทบาทมากกว่าอดีต ซึ่งสื่อมีส่วนที่ทำให้เราเปิดภูมิทัศน์ได้รวดเร็วกว่าอดีต ผมเคยอ่านประวัติศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 1 แต่ข่าวมาถึงเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 นี่สะท้องให้เห็นว่าการข่าวในอดีตมันช้า แต่ในปัจจุบันกลับรวดเร็วมากขึ้น คนอาจจะรู้ได้ในนาทีเดียวกัน ความรวดเร็วนี้ถ้าเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น แต่ถ้าเกิดนำมาใช้ในแนวทางที่ผิด ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียได้ต่อสังคม

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจึงมอบหมายให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานที่จะช่วยทำให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมา ใหเกิดสื่อที่มีความปลอดภัยขึ้นมา เราทำกองทุนขึ้นมาก็มีเงินเล็กน้อยและคนจำนวนน้อย รวมถึงระยะเวลาในการก่อตั้งก็ไม่นานนัก เราจะทำยังไงกัน? ก็มีหลักการง่ายๆ คือ เราต้องหาพันธมิตร อาสาสมัคร เครือข่ายจิตอาสา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

แผนพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับที่ 1 ปี 2562-2565 เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ รวมไปถึงผู้ผลิตสื่อต่างๆ ด้วยเช่นกัน ตลอดจนครูและอาจารย์ คนเหล่านี้มีความคิดดีๆ เราแค่ให้พื้นที่ให้เขาไปคิดต่อยอดสร้างสรรค์ ทำให้ได้ผลดีกว่าคนรุ่นเราที่ตามไม่ทัน ด้วยเหตุอย่างนี้เอง แผนพัฒนาในระยะที่ 1 ยังกำหนดให้ระดมการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน และยังเน้นไปที่ผู้ผลิตสื่อให้มาช่วยกันคิดทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และยังควานหาพันธมิตรมาช่วยระมัดระวังเรื่องสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่าอยู่ที่ไหน จะได้จัดการกันไป

นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ คำนี้ฟังดูใหม่แต่มีความสำคัญมากในวันนี้ ถ้ารู้เท่าทันก็ทำให้ความคิดเราไม่ถูกครอบงำ อย่างเช่นที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาจะมีการสอนวิชาการรู้เท่าทันสื่อ โดยมีเหตุผลคือการทำให้เกิดการคัดกรองก่อนเกิดความเชื่อ และตรวจสอบข่าวจริง โดยใช้หลักทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนมากว่า 20 ปีแล้ว แสดงว่าการรู้เท่าทันสื่อมันถูกสอนกันได้ ฉะนั้นจะอยู่ในแผนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ผมได้ทราบว่าการจัดเวทีระดมรับฟังความเห็น ครั้งนี้จัดเป็นครั้งสุดท้าย ผมต้องขอขอบคุณสำนักงานกองทุนฯ ที่ทำให้เกิดงานแบบนี้ขึ้น มีทั้งสื่อมวลชนที่ทั้งได้และไม่ได้ ซึ่งผมอยากจะรับฟังความเห็นว่าเขารู้สึกอย่างไรและจะพัฒนาอย่างไรต่อไปในอนาคต ทำให้เกิดการถามตอบอีกด้วย วันนี้เราเชิญตัวแทนจังหวัดในฐานะที่มีอนุกรรมการวัฒนธรรมประจำจังหวัด เพราะท่านต้องเป็นหูเป็นตา และให้ข้อมูลกับนักเรียนนิสิตนักศึกษาในการทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เวทีแบบนี้จึงมีประโยชน์ ปีหน้าผมก็อยากให้จัดอีก แต่อาจจะจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายก็ได้ เมื่อโควิด-19 คลี่คลายลง เพราะอย่างไรกองทุนนี้ยังต้องทำงานต่อไป

ผมต้องขอขอบคุณทุกท่าน และขอให้ตักตวงและใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากการประชุมวันนี้ เพื่อที่ท่านจะได้เป็นพันธมิตรของเราต่อไปในอนาคต เพื่อที่จะได้ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อไป และสามารถเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายอื่นๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

“หลงเชื่อเพราะรู้ไม่เท่าทันสื่อ ถ้ามันไม่จริงและเป็นเท็จ มันเกิดผลร้ายมหาศาล เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การใช้ชีวิตของผู้คนก็จะเปลี่ยนไปจากการรับรู้ข่าวปลอมและเกิดความเสียหายในที่สุด”

 ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์   กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมและมุ่งผลิตสื่อสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการในการคัดกรองสื่อที่ปลอดภัย รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในสื่อที่ปอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนจึงจัดตั้งเวทีทั้ง 5 ภาค โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนเข้าใจการรู้เท่าทันสื่อ การรับสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกองทุนตระหนักดีว่าการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่สามารถทำได้แต่เพียงผู้เดียว

การจัดโครงการเราเริ่มมาทั้งหมด 4 ภาค 4 พื้นที่ จนถึงวันนี้เป็นเวทีสุดท้าย โดยในเวทีนี้จะเปิดให้มีส่วนร่วมในการทำเวิร์คช็อปในห้องทั้งหมด 3 อนุกรรมการฯ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป วันนี้เราจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป

Written By
More from pp
ทบ. – การกีฬาแห่งประเทศไทย จับมือร่วมพัฒนาและอนุรักษ์มวยไทย ผ่านศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี)สอดคล้องนโยบายรัฐ
5 เมษายน 2565 ณ กองบัญชาการทหารบก พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี) และ...
Read More
0 replies on “ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกและประธานกรรมการ เปิดกิจกรรม “TMF Power Fusion” ครั้งที่ 5 รวมความเห็นประชาชน ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี”