นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (17พ.ย.) ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อนุมัติโครงการและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 51,858 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการหลัก คือ
1. โครงการประกันรายได้ ปี 2 กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ตุลาคม 2563 – พฤษภาคม 2564
2. มาตรการคู่ขนานควบคู่กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ระยะเวลาดำเนินการ 1 พฤศจิกายน 2563 – 29 กุมภาพันธ์2564) โดยนอกจากเกษตรกรจะได้รับสินเชื่อและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแล้ว เกษตรกรที่มียุ้งฉางจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีสหกรณ์จะได้รับตันละ 1,000 บาท และสมาชิกจะได้รับตันละ 500 บาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564 )
โดยสหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 และ (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พฤศจิกายน 2563 -31 มีนาคม 2564 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2 – 6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 จะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมากเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก จะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการชดเชยตามโครงการประกันรายได้
และ 3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จะเริ่มเดือน พฤศจิกายน 2563 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยในช่วงแรกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของรัฐบาล จะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ในรอบแรกเบื้องต้น อัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ก่อน และในช่วงต่อไปจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอ ครม. เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไปนั้น
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และ ธกส. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมทั้งมาตรการคู่ขนานและโครงการอื่น ๆ เป็นไปโดยรวดเร็วและโปร่งใส เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโดยกลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต2563/64รอบที่ 1 ธกส. รายงานล่าสุดว่า ได้โอนเงินส่วนต่างให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 786,380 ราย เป็นเงิน 8,387 ล้านบาท ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวนาที่ลงทะเบียนปลูกข้าวชนิดเดียวและจะโอนส่วนที่เหลือให้กับเกษตรกรชาวนาที่ปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 หรืออย่างช้าภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากยังมีเกษตรกรชาวนาที่มีปัญหา 161 ราย ที่มีปัญหาทางบัญชีธนาคารเช่นบัญชีเงินฝากปิดบัญชีไปแล้วหรือบัญชีถูกอายัด
ซึ่ง ธกส. จะได้เร่งแก้ไขเพื่อโอนเงินส่วนต่างให้เสร็จสิ้นทุกรายโดยเร็ว ส่วนกรณีที่ ธกส. โอนเงินเกินโอนเงินขาดบางส่วนนั้น ธกส. แจ้งว่าเป็นปัญหาทางเทคนิค ซึ่ง ธกส. จะดำเนินการแก้ไขจ่ายเงินส่วนที่ขาดให้เรียบร้อยอย่าได้กังวล สำหรับจำนวนเกษตรกรชาวนารอบที่ 1 ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ มีจำนวน 839,682 รายซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งข้อมูลให้กับ ธกส. เพื่อโอนเงินส่วนต่าง
ทั้งนี้ การโอนเงินตามโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 รอบที่ 1 เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 3 พฤศจิกายน 2563 และประกาศคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างตามโครงการฯ ความชื้น ข้าวเปลือกแต่ละชนิด ไม่เกิน 15% โดยชดเชยส่วนต่างราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2,911.17 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,137.45 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 1,222.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,066.96 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 2,084.34 บาท จากนั้นจะประกาศราคาอ้างอิงทุก ๆ 7 วัน จนถึงวัน สิ้นสุดโครงการฯ
ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแต่ละชนิดรับเงินส่วนต่าง ถ้าปลูกข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 26,674 บาท ข้าวเหนียวจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 33,349 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 36,670 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 34,199 บาท และข้าวหอมมะลิจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 40,756 บาทต่อครัวเรือน