กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนกลุ่มเด็กและวัยรุ่นระวังอันตรายจากการเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ในคืนวันลอยกระทงที่เกิดจากความประมาท ไม่ระมัดระวัง อาจได้รับบาดเจ็บผิวหนังไหม้ หูตึงถาวร และอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงอันตรายจากการเล่นดอกไม้เพลิงโดยประมาทในช่วงคืนวันลอยกระทง ว่า ทุกปีหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีมาตรการควบคุมการเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ออกมาบังคับใช้
แต่ก็ยังมีข่าวการได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิงของกลุ่มเด็กและวัยรุ่น โดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายแก่ตัวเด็กเองและผู้อื่น นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแล้ว ผู้ที่เล่นประทัดเองก็ได้รับอันตรายจากสารเคมีหลายชนิด และอาจได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ และก่อให้เกิดอัคคีภัยตามมา
โดยความร้อนของประทัดสามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้ หากสัมผัสหรือสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษ อาทิ สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน สารโปตัสเซียมไนเตรต สารแบเรียมไนเตรต เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หู ตา จมูก ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะสารแบเรียมไนเตรต มีพิษมากอาจทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ การจุดประทัดแต่ละครั้งอาจก่อให้เกิดเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ ทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากได้ยินติดต่อกันเวลานานอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวรได้
ดังนั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจุดประทัดในงานต่าง ๆ จึงมีข้อควรระวังเพื่อป้องกันอันตราย โดยควรตรวจสอบประทัดให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ได้มาตรฐาน จุดประทัดให้ห่างไกลจากบ้านเรือน แนวสายไฟ สถานีน้ำมัน ถังแก๊ส และวัตถุไวไฟ และห้ามดัดแปลง เล่นผิดประเภทจนเกิดแรงระเบิดหรือแรงอัดเสียงดัง
ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว