เปลว สีเงิน
เมื่อวาน….
ที่อยากเห็น ๑๔ ตุลา.ว่า “อะไรจะเกิดขึ้น” ก็ได้เห็นกันแล้ว
ไม่มี “นักเรียน-นักศึกษา” มาเป็นม็อบ
มีแต่ “อานนท์-เพนกวิน-รุ้ง-ไมค์” คนคุ้นเคยกับ “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” ในนาม “คณะราษฎร ๖๓” เป็น “หัวม็อบ”
คนเสื้อแดงส้มขาประจำเครือข่าย “ก้าวหน้า-ก้าวไกล-เพื่อไทย” และนักศึกษาบางส่วน “เป็นหาง”
สรุปได้ว่า…….
ม็อบคนคุ้นเคยธนาธร ฉกฉวยเอาคำว่า “นักเรียน-นิสิต-นักศึกษา” ไปใช้ เพื่อให้สังคมหลงเข้าใจว่า
“ม็อบคณะราษฏร ๖๓” ที่มุ่งล้มเจ้า-ล่มประเทศ” ขณะนี้ คือ “นักเรียน-นิสิต-นักศึกษา” ที่เป็นคนรุ่นใหม่
ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่….
เอาเด็กมาเป็นหัวเชื้อคน-สองคน แต่เคลมชื่อ “นักเรียน-นิสิต-นักศึกษา” ไปเป็นจุดขายลวงสังคม
เห็นคนสวมเสื้อเหลืองมารับเสด็จฯ เนืองแน่นถนนราชดำเนิน เมื่อวาน ก็มั่นใจ “สถาบันพระมหากษัตริย์” คือหัวใจชาติ-หัวใจประชาชน
แต่ก็นั่นแหละ….
การถวายการอารักขาของเจ้าหน้าที่ ควรเข้มแข็ง-รัดกุมมากกว่าเมื่อวาน ไม่ได้ตำหนิ แต่เตือนให้ตระหนัก
ม็อบแดงส้ม “คณะราษฏร ๖๓” เข้ายึดพื้นที่ล้อมทำเนียบรัฐบาลเมื่อคืน ยึดแล้วไงต่อ ผมไม่ทราบ
ทราบแต่ว่า ที่คนเสื้อเหลืองเนืองแน่นรายทางเสด็จฯ ตะโกน ทรงพระเจริญ…ทรงพระเจริญ…ทรงพระเจริญ
ทำให้คิดย้อนถึงพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
“พ่อบนฟ้า” ทรงบันทึกเป็นพระนิพนธ์ถึงคำว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ จนเป็น “วลีอมตะ” ตราบทุกวันนี้
เพราะประโยคนี้ประโยคเดียว พระองค์ทรงถือเป็นพันธสัญญา และเสด็จฯ กลับมาอยู่กับประชาชนของพระองค์ ไม่ทรงทอดทิ้งประชาชนเลย ยาวนาน ๗๐ ปี
มาเมื่อวานและวานซืน ที่พระบรมมหาราชวังและที่ราชดำเนิน ภาพอดีตแต่ครั้ง “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” หวนกลับมาอีกครั้ง
ด้วยปีติน้ำตาปนน้ำฝนอาบหน้า ด้วยเทิดทูน เฝ้าหาและห่วงหา “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ระงมด้วยคำว่า ทรงพระเจริญ
จะขอพระราชทานเชิญพระราชนิพนธ์นั้นมาให้อ่านกันอีกครั้ง จาก “นิตยสารธรรมลีลา” ฉบับ ธค.๕๙ ดังนี้
……………………….
พระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์”
วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้น จึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย
เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์วิหารตอนบ่ายวันนี้ มีประชาชนผู้รู้ว่าข้าพเจ้าจะมา มายืนรออยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ
แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงให้มารู้จัก โดยปรกติได้เคยเห็นหน้าท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว
ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้น มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อพระไพรีพินาศ พระองค์นี้เคยทรงเล่าประวัติให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลา
ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่า รถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย
ในหมู่ประชาชนที่มารอรับกันอยู่วันนี้ จำได้ว่า มีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน
วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
เก็บของลงหีบและเตรียมตัว…
วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
เราจะต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว!อะไรๆ ก็จัดเสร็จหมด หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม… บ่ายวันนี้เราไปถวายบังคมลาพระบรมอัฐิของพระบรมราชบุพการีของเรา ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อนๆ แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ
เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้ และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้ จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง
เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น เมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ
ตอบเขาว่า “ให้เข้ามาซิ” เพราะเหตุว่า วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้
และยิ่งกว่านั้น ยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก……
วันนี้ พวกทหารรักษาการณ์กันอย่างเต็มที่ เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก ไม่เหมือนอย่างเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่มากันคน ช้าเกินไป…..
วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
วันนี้ ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว….. พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์
พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก
ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง
รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆว่า
“อย่าละทิ้งประชาชน”
อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว
เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึกเป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย
๑๑.๔๕ นาฬิกาแล้ว มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้น ก็ไปขึ้นเครื่องบิน เดินฝ่าฝูงคนซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย
เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหว กลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด พอถึง ๑๒ นาฬิกา เราก็ออกเดินทาง มาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วถนนทุกสายในพระนคร
บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังเกาะลังกา (ซีลอน) เสียงเครื่องบินสนั่นหนวกหู หากผู้ใดอยากจะพูดก็จะต้องตะโกนออกมาให้สุดเสียง ดังนั้นจึงไม่มีใครพูดเลย ทางที่ดีที่สุดที่พึงทำคือหลับตาเสียแล้วนิ่งคิด…
แปลกดีเหมือนกันที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย
แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล แม้จะมีเสียงเครื่องยนต์ ก็ดูเป็นเหมือนเงียบและนิ่งอยู่กับที่ เพราะเสียงทุกๆ เสียงจากสิ่งมีชีวิตได้จางหายไปหมดแล้ว และกำลังชินกับเสียงครางกระหึ่มของเครื่องยนต์นั้น
หวนกลับไปนึกดูเมื่อ ๙ เดือนที่แล้วมา เรากำลังบินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อจะเยี่ยมเยียนประเทศหนึ่ง เยี่ยมอาณาประชาชนที่เราต้องพลัดพรากจากมาถึง ๗ ปีเต็มๆ โดยที่เราเกือบไม่รู้เรื่องและข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชนของเราเลยแม้แต่น้อย…
เดี๋ยวนี้เรากำลังบินจากประเทศนั้น จากประชาชนพลเมืองเหล่านั้นไปแล้ว การจากครั้งนี้ มิได้เพียงแต่จากมาอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าได้จากเรื่องที่ล่วงแล้วมาด้วย…
สจ๊วตเข้ามาขัดจังหวะเสีย ทำให้ความคิดที่กำลังเพลิดเพลินจางไปเสียจากสมอง เขานำอาหารกลางวันที่มีรสกลมกล่อมเข้ามาให้ การเดินทางในระยะต่อมาช่างเปล่าเปลี่ยวเสียจริงๆ…….”
ในหนังสือสมุดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯ จัดทำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ มีความบางตอนกล่าวถึงผู้ที่ร้องขอว่าในหลวงอย่าละทิ้งประชาชน ว่า
“…เป็นที่น่าประหลาดว่า ต่อมาอีกประมาณ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชนนั้นเป็นพลทหาร
และในปัจจุบัน เขาออกไปทำนาอยู่ในต่างจังหวัด เขากราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ทรงทิ้งราษฎร
เขาทูลว่า ตอนที่เขาร้องไปนั้น เขารู้สึกว้าเหว่และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปจากเมืองไทย กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีก เพราะคงจะทรงเข็ดเมืองไทย เห็นเป็นเมืองที่น่ากลัวน่าสยดสยอง เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก กราบบังคมทูลถามว่า
“ท่านคงจำผมไม่ได้ ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า “เราน่ะรึที่ร้อง?”
“ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบ “นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา”….”
ภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วไม่นาน พระองค์ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขาถึงพระสหายเมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ในยุโรปความตอนหนึ่งว่า
“…เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่า ประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้าเมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า
ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง…”
…………….
“ขอจงทรงพระเจริญ”