21 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 กองวิทยาศาสตร์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา พร้อมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ฝากให้ผู้บริหารดำเนินการวางแผนเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างอัตรากำลังให้เพียงพอ รวมทั้งวางระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อให้ที่ทำการสำนักงานราชบัณฑิตยสภาทั้ง 2 แห่งสามารถทำงานเชื่อมโยงประสานงานสอดคล้องกันได้อย่างมีเอกภาพ
ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ราชบัณฑิตยสภาจะได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ขององค์กรใหม่ให้เป็นหน่วยงานราชการดิจิทัลที่ทันสมัย เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคราชการ 4.0 มุ่งเน้นประโยชน์การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเป็นสำคัญ โดยอาจมีแอปพลิเคชันให้ประชาชนดาวน์โหลดค้นหาพิกัดจุดให้บริการของราชบัณฑิตยสภาที่ต้องการติดต่อทั้ง 2 แห่ง และนำทางไปที่ตั้งหน่วยงาน มีคู่มือในการเข้าใช้บริการ รวมถึงประเมินความพึงพอใจหลังเข้ารับบริการ เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณให้อนุมัติค่าปรับปรุงอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อนให้เป็นหอประวัติราชบัณฑิตยสภา คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ก่อนวันที่ 15 กันยายน 2563 นี้
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภาทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยมาโดยตลอด มีการจัดกิจกรรมทั้งการแข่งขันทักษะการใช้ภาษาไทยของเยาวชนทั่วประเทศ การมอบรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นให้แก่นักเรียน ดารานักแสดง ผู้จัดรายการโทรทัศน์ ถือว่าเป็นโครงการที่ดีในด้านการสร้างความสามารถการแข่งขันพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันกันสูง จึงอยากให้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลงานทางวิชาการที่ราชบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์ทางออนไลน์ด้วย รวมทั้งการผลิตหนังสือ e-book เพื่อลดการใช้กระดาษ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว รองรับความต้องการของประชาชน
อีกทั้งยังเป็นการปรับตัวเข้าสู่ยุคราชการ 4.0 ให้เป็นหน่วยงานของรัฐยุคดิจิทัลที่มุ่งเน้นประโยชน์การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเป็นสำคัญ และพัฒนาให้เป็นองค์กรบริการที่มีความทันสมัย พร้อมกับต้องการให้ราชบัณฑิตยสภาเชิดชูยกย่องโดยการส่งเสริมเผยแพร่ประวัติและเกียรติคุณของบุคคลซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลของชาติ
ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกย่องเชิดชูแล้วยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เห็นแบบอย่างที่ดีงามเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิตด้วย รวมทั้งให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจ และเพิ่มช่องทางต่าง ๆ ในการให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสะดวกยิ่งขึ้น