วันที่ 14 ส.ค.63 ในการประชุมสภา นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ ยื่นญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา ผลกระทบ และแนวทางการแก้ปัญหาของประมงพื้นบ้าน ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่สภาพท้องทะเลน้ำตื้น
เนื่องจากปัจจุบันประมงพื้นบ้านกำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากการแก้ไขการปรับปรุง พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 ในมาตรา 34 และมาตรา 67 กระทบโดยตรงกับผู้ประกอบกิจการประมง พาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน
ผลกระทบจากการแก้ไขมาตรา 34 มีความว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง พื้นที่ห่างชายฝั่งออกไป 3 ไมล์ทะเล ทำให้เกิดข้อจำกัดในการประกอบอาชีพแก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยพื้นที่ชายฝั่งน้ำตื้นในการทำมาหากิน
เพราะว่าท้องทะเลมีความหลากหลายของสัตว์น้ำ และสัตว์น้ำแต่ละประเภทก็อาศัยระบบนิเวศน์ไม่เหมือนกัน บางชนิดอยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล บางชนิดห่างไกลออกไป ซึ่งการระบุไว้ว่าผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจะต้องประกอบกิจการอยู่ในเขต เป็นการจำกัดสิทธิ์เกินไป
ถ้าเรามองไปยังอุปกรณ์การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน การที่จะทำให้สัตว์น้ำที่อยู่ในพื้นที่ทะเลน้ำตื้นสูญเสียสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กลงไปอย่างยิ่ง
ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองไปยังเรื่องระบบนิเวศน์ ในพื้นที่ที่มาตรา 34 กำหนดไว้ ในการประกอบอาชีพ ห้ามเกิน 3 ไมล์ทะเล ถ้าเราประกอบอาชีพโดยใช้เครื่องมือในการออกทะเลไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล ประมงพื้นบ้านจะสูญเสียสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศน์สูญเสียเป็นอย่างยิ่ง หากเรายังปล่อยให้เกิดปัญหาแบบนี้ต่อไป ประเทศของเราอาจจะสูญเสียทรัพยากรชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ไป ตลอด จนถึงอาชีพประมงหน้าบ้านก็คงหายไป
ถ้าหากเกิดเรื่องแบบนี้ เราก็คงซื้ออาหารทะเลที่แพงขึ้น และอาหารทะเลที่เราจะนำเม็ดเงินมาสู่ประเทศในภาคธุรกิจก็จะลดน้อยลงด้วย จึงอยากขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการเพื่อรับฟัง และหาแนวทางการแก้ปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน
ส.ส.ไพลิน ยกตัวอย่างอาชีพประมงพื้นบ้านใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งประกอบไปด้วย อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ ต.คลองด่าน และต.บางปู เป็นหนึ่งในประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าโพงพาง ซึ่งมีลักษณะอวนคล้ายถุง ปากอวนกว้างยึดกับที่ โดยใช้กระแสน้ำพัดให้สัตว์น้ำเข้ามาในถุงอวน ตามประกาศการใช้ พ.ร.ก.ประมงปี 2558 ในมาตรา 67 มีข้อบังคับมิให้ใช้เครื่องมือโพงพางและเครื่องมือลอบพับหรือไอ้โง่จับสัตว์น้ำ แล้วอวนลากที่มีตาอวนก้นถุงเล็กกว่าที่อธิบดีประกาศกำหนด
ซึ่งเครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเครื่องยนต์ เว้นแต่อวนรุนเคย โดยมีบทลงโทษในมาตรา 146 ปรับตั้งแต่ 1-5 แสนบาท และมาตรา 169 ให้ริบเครื่องมือทำกินประมงและสัตว์น้ำทั้งหมด จากการประกาศ พ.ร.ก.ประมงปี 2558 ส่งผลกระทบกับพ่อแม่พี่น้องที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมไปถึงประมงหน้าบ้าน
หมายถึงประชาชนที่มีภูมิลำเนาที่ติดริมคลอง ริมฝั่ง ริมชายทะเล ที่พวกเขาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ประมงหน้าบ้าน มารุ่นสู่รุ่น นับเวลาเป็นร้อยๆ ปี ในเขต อ.พระสมุทรเจดีย์ ได้ดำเนินกิจการประมงหน้าบ้านมีจำนวน 201 ราย ในพื้นที่ประกอบไปด้วยตัวเลขประชากร 2 พันคน มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 500-1,000 บาท อาจจะดูไม่มากแต่ถ้ามองในมุมผู้ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เขาเหล่านั้น วันนี้ไม่มีอาชีพทำกิน
เพราะตาม พ.ร.ก.ที่ได้ออกกำหนดมา วันนี้หน่วยงานภาครัฐไม่ได้ชดเชยเยียวยาให้กับคนกลุ่มนี้ พ่อแม่พี่น้องประชาชนต้องหยุดการประกอบอาชีพไม่มีรายได้ในการส่งเสียครอบครัว ส่งผลกระทบให้กับบุตรหลาน ไม่ได้เรียนหนังสือ
ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มมีข้อเสนอแนะว่าขอให้เขาหยุดประกอบอาชีพประมงโดยเด็ดขาด และไปประกอบอาชีพอื่น ความเป็นจริงมันทำไม่ได้ นั่นคือถิ่นกำเนิด เขาไม่สามารถย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพอย่างอื่นได้เลย
อย่างที่ได้ยกตัวอย่างในเขต อ.พระสมุทรเจดีย์ ประชาชนดั้งเดิมที่ประกอบอาชีพประมงหน้าบ้าน ไม่สามารถที่จะย้ายถิ่นฐานไปทำอาชีพอื่นได้เลย เพราะว่าพื้นที่ตรงนั้น ไม่สามารถปลูกผัก ปลูกข้าว ปลูกปาล์ม สามารถทำได้อย่างเดียวคือทำประมงหน้าบ้าน
ส.ส.ไพลิน ยังได้กล่าวอีกว่า จากการศึกษาและได้ไปสอบถาม พบว่า ในมาตรา 67 ในคำว่าโพงพางและอวนลากจะเขียนไว้ว่า ความในวรรค 1 และวรรค 3 มิให้บังคับใช้แก่การศึกษาวิจัยซึ่งกระทำโดยทางราชการ เพื่อประโยชน์ในการหาขนาดช่องตาอวนที่เหมาะสมที่ประชาชนพึงได้รับ โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ความในวรรค 1 มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการประมงพื้นบ้าน หรือประมงน้ำจืดที่ได้รับอนุญาตผ่อนปรนให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบ เครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ในเมื่อมีการเปิดช่องให้ทำการศึกษาวิจัยแล้ว เราควรมีผู้ริเริ่ม ดำเนินการ พวกเราในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน ที่ได้รับเลือกเข้ามาแก้ปัญหา จึงขอเสนอตั้งกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องนี้
รวมถึงหาเจ้าภาพหรือหน่วยงานหลักในการศึกษา เชื่อว่าเราจะสามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้เป็นอย่างดี อาจจะช้าไปนิด แต่ไม่สายเกินไปที่เราจะช่วยกันผลักดันในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และผลักดันให้ประชาชนสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้
นอกจากจะช่วยให้พวกเขามีรายได้ ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์อาชีพพื้นบ้านที่มีการทำกินมาช้านาน รวมถึงการรักษาวิถีอัตลักษณ์ดั้งเดิมให้คงอยู่ตลอดไป