คงไม่ใช่เรื่องธรรมดานัก หากจะมีใครสักคนที่มองเห็นความงดงามเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับความเจ็บป่วย ทว่าการไม่เห็นนั้น ก็ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าความงามนั้นมันไม่มีอยู่ โดยเฉพาะกับการจัดแสดงล่าสุดที่กำลังมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-16 สิงหาคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ภายใต้การจัดงานวันรวมพลังสู้ภัยเบาหวาน (Together Fight Diabetes Fair) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดแสดงผลงงานศิลปะ ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘โรคเบาหวานชนิดที่ 1’
เบาหวาน + งานศิลป์
เพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังและไม่สามารถรักษาจนหายขาด จึงไม่ง่ายเลย ที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีเกือบ 5 ล้านคนในไทย จะสามารถทำความเข้าใจ ยอมรับ จนไปถึงจุดที่สามารถอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นเบาหวานชนิดที่เกิดในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆ เด็กวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายหยุดผลิตฮอร์โมนอินซูลิน เบาหวานชนิดที่ 1 นี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดและไม่มีทางป้องกัน
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้จัดประกวดผลงานศิลปะเด็กและเยาวชน ในหัวข้อ Living with diabetes ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แสดงฝีมือผ่านงานศิลปะที่เปลี่ยนความเจ็บป่วยมาสู่พลังแห่งความสร้างสรรค์ และนำมาจัดแสดงผลงานในนิทรรศการส่วนแรก โดยผู้ชมจะได้สัมผัสกับเรื่องราวที่น้องๆได้ถ่ายทอดออกมาในหลากหลายแง่มุมของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน และแตกต่างกันในหลายช่วงวัย ทั้งจากรุ่นอายุ 5-9 ปี 10-14 ปี และ15-18 ปี
มองเบาหวาน ผ่านเลนส์หมอ
สำหรับนิทรรศการส่วนที่สองนั้น เป็นผลงานภาพถ่ายของนายแพทย์ กันตพงศ์ ทองรงค์ หรือหมอเปียง คุณหมออารมณ์ศิลป์ที่หลงใหลในการเดินทางและการถ่ายภาพ ที่สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน โดยผลงานครั้งนี้มาในชื่อ CHILDREN WHO LIVE WITH DIABETES เบาหวานชนิดที่ 1 กับเรื่องราวการใช้ชีวิตร่วมกับเข็มอินซูลิน
ผลงานนี้หมอเปียง ได้ถ่ายทอดความรู้สีกและเรื่องราวด้วยภาพของเด็กๆในอิริยาบถต่างๆ ที่ผู้ชมอาจไม่เชื่อว่าคนในภาพคือเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับการฉีดยาด้วยตัวเองทุกวัน ฉีกทิ้งภาพจำเดิมๆว่าผู้ป่วยเบาหวานจะต้องภาพของผู้สูงวัยรูปร่างท้วมที่ชอบกินของหวาน ซึ่งจริงๆแล้วโรคเบาหวาน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
นิทรรศการส่วนนี้จะนำผู้ชมไปสู่การไขคำตอบว่าเด็กๆเหล่านี้เขาอยู่ได้อย่างไร? เพราะเบาหวานชนิดที่ 1 พิเศษกว่าเบาหวานที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันตรงที่ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ จะมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้จัดการกับน้ำตาลในเลือด ภาวะน้ำตาลสูงส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ จนอาจก่ออันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้นผู้เป็นโรคนี้มักต้องฉีดอินซูลินด้วยตัวเองอยู่ทุกวัน และต้องตรวจวัดน้ำตาลจากการเจาะเลือดปลายนิ้ว มากกว่า 3-4 ครั้งต่อวัน ซึ่งนี่ไม่ใช่เป็นเพียงการรักษาโรค แต่เป็นการปรับชีวิตให้เข้ากับโรค เพื่อให้อยู่ร่วมกับโรคเบาหวานอย่างมีความสุข และมีชีวิตให้ใกล้เคียงคนที่ไม่ป่วยให้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เรื่องเบาหวาน…ที่ไม่หวาน
นิทรรศการครั้งนี้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จัดขึ้นด้วยหวังสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในสังคมไทย ซึ่งในนิทรรศการส่วนสุดท้ายนั้นเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจและบอกเล่าถึงภารกิจในการแก้ไขปัญหาโรคเบาหวาน ภายใต้ชื่อ Together Fight Diabetes สะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึงบทบาทของตนเองที่มีต่อการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ตลอดจนบทบาทในการให้ความช่วยเหลือไปยังผู้ป่วยที่มีอยู่ในสังคม
ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่เป็นเบาหวานตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยเรียนอยู่ราว 100,000 คน แต่เรื่องเบาหวานนี้ ดูจะไม่หอมหวานนัก เพราะเด็กหลายหมื่นคนมีฐานะขาดแคลน ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ชนิดที่เจาะเลือดปลายนิ้วได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้พวกเขาตรวจวัดระดับน้ำตาลได้ด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้ในทุกๆวัน และเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่สำคัญของสังคมและประเทศชาติ
การระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ก็เป็นอีกภารกิจสำคัญของสมาคมฯ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถร่วมส่งความช่วยเหลือได้ด้วยการบริจาคผ่าน บัญชี สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 041-017593-5