นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในประเด็นให้สอดคล้อง กับสภาพการณ์ในปัจจุบันว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มที่จะมีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และเป็นการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน อันจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
สำหรับประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ( ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ในประเด็นต่างๆ อาทิ การแก้ไขหลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการแพทย์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการให้มีเพียงวาระเดียว
การแก้ไขอำนาจ ในการกำหนดการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้างในการดำเนินงานประกันสังคม การขยายอายุของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 การแก้ไขสิทธิประโยชน์ให้ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรต่อไปในช่วงคุ้มครองต่อ 6 เดือน ภายหลังจากสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 การแก้ไขการคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระของผู้ประกันตนตามมาตรา 39
โดยกำหนดให้ไม่เกินจำนวนเงินสมทบ ที่ต้องจ่าย การกำหนดให้ผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมสามารถกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน การแก้ไขให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร การเพิ่มเงินทดแทน การขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ การเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เป็นต้น
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ
สำนักงานประกันสังคม ขอเชิญชวน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนทั่วไป สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม ที่ www.sso.go.th หรือ แสดงความคิดเห็นผ่าน QR code ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 นี้