แพทย์ชี้…เด็กยุคใหม่ “เก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ” เร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

เพราะการเลี้ยงเด็กในปัจจุบันไม่ง่าย ไม่เพียงเด็กดื้อ เด็กเกเร สมาธิสั้น ยังมีทั้งเด็กขี้กลัว อ่อนแอ ขาดความมั่นใจ ฯลฯ เป็นปัญหาที่พ่อแม่ต้องพบเจอและตีโจทย์ให้แตกเพื่อให้เข้าใจในบุตรหลานของตนเอง และช่วยปรับพฤติกรรมให้ลูกมีพัฒนาการทางการทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม สามารถรับมือกับสิ่งเร้าหรือภาวะที่ยากลำบากเมื่อต้องเจอะเจอในวันข้างหน้าได้เป็นอย่างดี

พญ.สุรางคณา เตชะไพบูลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช และผู้อำนวยการ Samitivej Parenting Center บอกว่า ยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เด็กเกิดมาไม่เคยต้องรอ อยากกินอะไรสามารถสั่งซื้อมาได้เลย ถูกปลูกฝังมาตลอด เคยชินกับการไม่ต้องคอย ไม่อดทน ไม่ต้องรอ แต่ชีวิตไม่ได้มีแต่สีชมพู ข้างนอกมีสีอื่นด้วย มีการแข่งขัน ถ้าเจอเพื่อนล้อจะยืนหยัดได้ไหม เมื่อก่อนจะมีแต่ ไอคิว อีคิว แต่ปัจจุบันมี อาร์คิว จะทำอย่างไรให้เขายืนหยัดและยืดหยุ่นได้

“เด็กในกรุงเทพฯ มีความอดทนน้อยกว่าเด็กชนบท ถึง 2 เท่า  เพราะสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมเมือง การเลี้ยงดูที่สุขสบาย พ่อแม่ปกป้องลูกมากเกินไป มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น เร็วขึ้น ทำให้เด็กไม่ต้องทนรออะไร อยากพูดอยากแสดงออกก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดถึงผลกระทบต่อคนอื่น  การแก้ปัญหานี้แต่ต้นมือจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องเร่งพัฒนา “อาร์คิว” (Resilience Quotient) หรือความฉลาดทางอารมณ์ที่จะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวในสภาวะที่ยากลำบาก เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคนี้”

สำหรับ “อาร์คิว” เป็นผลลัพธ์พัฒนาการของ “อีเอฟ” (Executive Functions – EF) ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยับยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและการเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการกระทำสิ่งอย่างเป็นขั้นตอนจนบรรลุความสำเร็จ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการ Samitivej Parenting Center บอกว่า พ่อแม่ปัจจุบันไม่ได้รับการศึกษาให้ดูแลลูก เราเลี้ยงลูกตามที่เคยเลี้ยง เลี้ยงลูกตามตำราตามโซเชียลบอก ผมเองกว่าจะเป็นจิตแพทย์เด็กได้ก็เป็นแพทย์และศึกษามา 12-13 ปี

“เด็กมีความเก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบในยุคนี้แล้ว แต่เด็กต้องเติบโตมาด้วยคุณภาพทางอารมณ์ด้วย”

ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะดูแลเด็กแบบ Total Health Solution หรือการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ กว่า 150 คน จึงจัดตั้ง Samitivej Parenting Center ขึ้นเพื่อดูแลเด็กๆ ไม่เพียงแค่การรักษาอาการทางกาย แต่เป็นศูนย์ในการรวมพลังของแพทย์และพ่อแม่ผู้ปกครองในการเรียนรู้วิธีรับมือกับลูกอย่างมีแบบแผนถูกต้องและตรงจุด

“รพ.สมิติเวช จะเป็นแหล่งองค์ความรู้ทางการแพทย์จริงๆ จะเป็นที่พึ่งพาการเลี้ยงดูบุตรหลาน ช่วยให้พ่อแม่มองเห็นปัญหาของลูกตั้งแต่ต้นและรีบจัดการโดยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะแก้ไขไม่ได้  รวมทั้งช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานพร้อมที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ”

นพ.ธีระเกียรติ บอกว่า “อีเอฟ” เป็นสิ่งสำคัญ และมีพัฒนาการด้วย 2 ปัจจัย คือ ตามพันธุกรรม และพฤติกรรมการเลี้ยงดู บางครั้งเด็กค่อยๆ มีพัฒนาการของอีเอฟไปเรื่อยๆ แต่สวนทางกับผู้เป็นพ่อแม่ก็มี นั่นเพราะสิ่งเร้าอยู่รอบข้าง การหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ดิ้นร้องไห้ ดื้อ ฯลฯ การเบี่ยงเบนความสนใจ รวมทั้งสร้างบรรยากาศ การให้รางวัลเมื่อเกิดพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดเป็นแรงเสริมที่มีอิทธิพลที่สุดในสร้างอีเอฟที่ดีให้กับเด็ก

จากคุณหมอมาฟังประสบการณ์ของดาราสาวคุณแม่ลูกสอง “นิหน่า” สุฐิตา ปัญญายงค์ เล่าว่า เมื่อครั้งที่ลูกยังเล็กทุกครั้งที่ลูกร้องไห้จะกังวลใจเพราะไม่ทราบว่าสาเหตุมาจากอะไร ต้องเปิดแอพพลิเคชั่นเทียบเสียงร้องแปลความต้องการของลูก ตอนนั้นรู้สึกสิ้นหวังมาก สุดท้ายก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปกับลูก ภายหลังเมื่อได้รู้จักพูดคุยกับหมอ เมื่อกังวลใจกับพฤติกรรมของลูกจะปรึกษาคุณหมอตลอดกระทั่งเพื่อนๆ มองว่าเป็นคนติดหมอ การที่มี Samitivej Parenting Center น่าจะเป็นสิ่งดีกับพ่อแม่ เมื่อสงสัยสิ่งใดสามารถขอความเห็นจากคุณหมอได้

ทางด้าน เพ็ญดาว ชินมหาวงศ์ คุณแม่วัย 29 ปี เจ้าของเพจ Heartcore Mom บอกว่าตั้งใจมาฟังการบรรยายเพื่อนำสาระไปสรุป็บดาวไปเป็นไกด์ให้กับพ่อแม่ลูกเพจ เพราะมองว่าเรื่องอีเอฟเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้กับลูกได้ “การมาฟังบรรยายครั้งนี้ได้ความรู้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องอีเอฟ เคยได้ยินแต่ไม่รู้ในรายละเอียด ครั้งนี้ได้รู้จักว่าอีเอฟคืออะไร และเราสามารถจัดการกับอีเอฟให้ลูกได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมันใช้ได้ผลจริง”

เช่นเดียวกับ ศุภลักษณ์ เจริญเศรษฐศิลป์ วัย 42 ปี ที่บอกว่าตั้งใจมาฟัง นพ.ธีระเกียรติ บรรยายเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ไปเป็นคำตอบให้กับบางคำถามที่ตนเองสงสัย เช่นพฤติกรรมของหลานที่มุ่งมั่นกับการเรียนอย่างมากและตลอดเวลา กระทั่งมองข้ามความสำคัญของสิ่งอื่นๆ ในชีวิตไป

ทั้งนี้ Samitivej Parenting Center  จะเปิดโปรแกรมสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อการรักษาเด็กสมาธิสั้น (ADHD) และเด็กดื้อ(ODD) อายุระหว่าง 2-12 ปี โดยเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีโครงสร้างลักษณะเฉพาะและมีแบบแผนชัดเจนอิงตามแนวทางของ Russell A. Barkley ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมาธิระดับโลก โดยพ่อแม่และผู้ปกครองจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เรื่องโรคสมาธิสั้น และพฤติกรรมดื้อต่อต้าน อย่างครบวงจร อาทิ ฝึกสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก ฝึกการออกคำสั่งแบบมีประสิทธิภาพ ฝึกทักษะการปรับพฤติกรรม การเลือกโรงเรียน การรักษาโรคสมาธิสั้น ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2378-9125

Written By
More from pp
“อนุทิน” เตรียมบิน “จันทบุรี” รับ “หัวใจ” ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน
“อนุทิน” เตรียมบิน “จันทบุรี” รับ “หัวใจ” ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน
Read More
0 replies on “แพทย์ชี้…เด็กยุคใหม่ “เก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ” เร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ”