นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบเงินสนับสนุน สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย
ได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานกิจการฮาลาลของประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลได้สะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และสำนักงานคณะกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งในเวทีโลก โดยในปัจจุบันโรงเชือดสัตว์ปีกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานส่งออกจากกรมปศุสัตว์ มีจำนวน 30 แห่ง และทั้งหมดได้รับรองมาตฐานฮาลาล ที่สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกปีละมากกว่า 1 แสนล้านบาท ติดอันดับ 4 ของประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกของโลก” นายเฉลิมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมุ่งหวังที่จะส่งออกเนื้อสัตว์ปีกให้ได้มากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากตลาดหลักคือประเทศญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะเจาะตลาดประเทศจีนและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียจัดเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ติดอันดับ 3 ของโลก และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยเนื่องจากหลายประเทศได้รับผลกระทบและมีความต้องการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่โรงงานไทยได้มาตรฐานฮาลาลจะมีส่วนช่วยให้สินค้าเนื้อสัตว์ปีกของประเทศไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศมากขึ้น
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าฮาลาล ดำเนินการตรวจรับรองสถานประกอบการโรงเชือด สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ และสถานประกอบการอื่นด้านปศุสัตว์
เช่น ศูนย์รวบรวมนม ศูนย์รวบรวมไข่ สถานที่ตัดแต่งเนื้อสัตว์ เป็นต้น โดยกรมปศุสัตว์ได้อุดหนุนงบประมาณในการตรวจรับรองดังกล่าวให้กับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามทุกปี เพื่อช่วยลดหย่อนค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองฮาลาลแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งความสำเร็จครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากกว่า 250 ราย และตั้งเป้าให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 300 ราย ภายในปี 2563 นี้ เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยสู่มาตรฐานการผลิตสินค้าฮาลาล
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มมาตรการดำเนินการเฝ้าระวังการปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกรในสินค้าปศุสัตว์ฮาลาล โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าฮาลาล 800 ตัวอย่าง เพื่อเป็นการทวนสอบในมาตรฐานการผลิต และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไป