ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช พัฒนายารักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงเพื่อผู้ป่วยโควิด-19

“การวิจัยทางคลินิก” เป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในคนว่า ยา วัคซีน หรือวิธีการรักษา ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้น มีผลในการรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย และต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพียงใด โดยมีเป้าหมายเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาผู้ป่วย

ศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการวิจัยทางคลินิกโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยยาและเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรฐานการรักษาของประเทศ เช่น การวิจัยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส ยารักษาโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ยาขับเหล็ก ยารักษาโรคมะเร็ง
ล่าสุด ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เตรียมทำการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งทั้ง 3 งานวิจัยได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมในคนเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ
  1. งานวิจัยเพื่อศึกษาการใช้ยาคลอโรควิน (chloroquine) ในสมาชิกที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยให้รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์
  2. การศึกษาวิจัยการปฏิบัติตัวและใช้ PPE ของบุคลากรทางการแพทย์ว่า สามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ อาสาสมัครคือบุคลากรในโรงพยาบาลศิริราชจำนวน 360 คน   นอกจากตรวจภูมิคุ้มกันอาสาสมัคร 4 ครั้งแล้ว ยังศึกษาถึงระดับเซลล์อย่างลึกซึ้ง ดูว่าร่างกายคนเราตอบสนองต่อไวรัสอย่างไร เพื่อศึกษาหากลไกในการต่อต้านไวรัส ผลการศึกษาอาจนำไปสู่การป้องกันและรักษา รวมทั้งใช้ในการศึกษาวัคซีนต่อไป
  3. งานวิจัยระดับนานาชาติ ด้วยความร่วมมือกับญี่ปุ่น (NCGM) ในการใช้ยา ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) รักษาคนไข้ ในช่วงที่ผ่านมามีการนำยา ฟาวิพิราเวียร์ ใช้รักษาคนไข้แล้ว แต่ข้อมูลจากการวิจัยทางคลินิกยังมีจำกัด แม้จะมีการตีพิมพ์ลงวารสารทางวิชาการบ้างแล้ว แต่การทดลองยังอยู่ในขอบข่ายที่เล็ก ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะมั่นใจทั้งในแง่ขนาดของยา และประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยในระยะต่าง ๆ หลายประเทศกำลังทำการทดลองอยู่ แต่ศูนย์วิจัยคลินิกทำการทดลองที่แตกต่างออกไป เป็นการให้ยาเร็ว เพื่อรักษา ไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการที่แย่ลง และหายป่วยเร็วขึ้น

ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ จะใช้ในคนไข้อาการหนัก และมีอาการปอดบวมร่วมด้วย งานวิจัยที่กำลังศึกษา จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ตั้งแต่อาการยังไม่มาก เป็นการชะลออาการผู้ป่วยไม่ให้เข้าสู่ภาวะอาการหนัก

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยทั้ง 3 โครงการของ SICRES  มีความสำคัญมาก เพราะผลลัพธ์จากการศึกษาวิจัยจะสามารถนำไปใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโรคได้อย่างดี อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของงานวิจัยทางคลินิก และขอให้ร่วมภาคภูมิใจกับการเป็นอาสาสมัครงานวิจัยทางคลินิก ที่ได้สร้างคุณงามความดีต่อสังคมส่วนรวม งานวิจัยที่ดีต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์จากงานวิจัยมีผลโดยตรงต่อการรักษาที่ดีขึ้นของคนไข้นับร้อยนับพันล้านคน โดยเป้าหมายสูงสุดของงานวิจัยก็เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและผู้ป่วยทุกชาติภาษา พร้อมขอแรงสนับสนุนจากคนไทยร่วมบริจาคเพื่อเอาชนะโควิด-19 ให้ได้

“บุคลากรและอาจารย์หมอศิริราชหลายท่านเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก อาทิ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ, รศ.ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์, รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ ผช.คณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ เป็นต้น”

สำหรับผู้สนใจ สามารถร่วมสมทบทุนต่อยอดงานวิจัยต้านภัยโควิด ได้ที่ “กองทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วยสำหรับสนับสนุนงานวิจัยเพื่อลดการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ศิริราช” ธนาคารกรุงเทพ สาขา รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ 901-7-06257-2 ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ ทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วย D004015 สอบถามรายละเอียด โทร. 02-419-7658-60 ต่อ 101-104  หรือ [email protected]

Written By
More from pp
“อนุทิน” ลงพื้นที่ “ชุมชนคลองเตย” อ้อนชาวบ้านเลือก “กรณิศ” ดัน “อนุทิน” เป็นนายกฯ ย้ำ พร้อมยกระดับคนกรุงเทพฯ พูดจริง ทำจริง
13 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, ผู้บริหารพรรค อาทิ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานคณะที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย,...
Read More
0 replies on “ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช พัฒนายารักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงเพื่อผู้ป่วยโควิด-19”