ไข้เลือดออกป้องกันได้ด้วยวัคซีน

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนประเทศไทยมักจะพบโรคไข้เลือดออกระบาดมากขึ้น เพราะยุงลายที่เป็นพาหะของโรคมีแหล่งเพาะพันธุ์มากขึ้น แต่ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์ และยังลดอัตราการป่วยรุนแรงจากไวรัสเดงกีได้ร้อยละ 92.9

โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายตัวเมียไปกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อไวรัสจึงเข้าไปฟักตัวและอาศัยอยู่ในตัวยุงลายตลอดอายุขัยของมันหรือประมาณ 1 – 2 เดือน และสามารถถ่ายทอดเชื้อให้คนที่ถูกกัดได้ โดยยุงลายจะอาศัยอยู่ภายในบ้านและบริเวณบ้าน เพาะพันธุ์ในน้ำใสที่ขังอยู่ตามภาชนะ เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ กระถาง ยางรถ มักจะกัดในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน โดยทั่วไปโรคนี้จะพบมากในฤดูฝนเพราะยุงลายแพร่พันธุ์ได้ง่าย และคนมักอยู่ในบ้านมากกว่าฤดูอื่น แต่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครอาจพบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

นายแพทย์ประยุทธ อังกูรไกรวิชญ์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสเดงกีมี สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกผู้ป่วยร้อยละ 80 – 90 จะไม่แสดงอาการ แต่ผู้ที่แสดงอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก มีผื่นที่ผิวหนัง ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งที่สองด้วยเชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจแสดงอาการที่รุนแรงขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ระยะ

คือ ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 39 – 40 องศา หากเป็นผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการชักได้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หน้าแดง และมีผื่นหรือจุดสีแดงบริเวณลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 – 7 วัน ระยะสอง ไข้จะเริ่มลดลงแต่ผู้ป่วยจะซึมหรือกระสับกระส่าย เหงื่อออกง่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา รอบปากเขียว เจ็บบริเวณชายโครงขวาเนื่องจากตับโต ปัสสาวะน้อย และเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อกและอาจเสียชีวิตได้ ระยะนี้ใช้เวลา 24 – 48 ชั่วโมง และระยะสาม อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น

“เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยในช่วงที่มีไข้สูงแพทย์จะให้ยาลดไข้ที่ไม่ใช่ยากลุ่มแอสไพรินเพราะยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น ให้ยาแก้คลื่นไส้ ตรวจเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด พร้อมกับให้สารน้ำชดเชยในรายที่ขาดน้ำมาก ๆ และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะช็อก โดยก่อนช็อก ไข้จะลดลง และอาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็น หน้ามืด เป็นลม ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที แต่จริง ๆ แล้วหากมีไข้สูงต่อเนื่อง 2 – 3 วัน หรือมีตุ่มแดงขึ้นตามตัวก็ควรมาพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาการรุนแรงขึ้นได้” นายแพทย์ประยุทธกล่าว

ปัจจุบันมีวัคซีน “เด็งวาเซีย” ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ และลดอัดตราการป่วยรุนแรงได้ร้อยละ 92.9 ฉีดในผู้ป่วยที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว โดยวัคซีนมีทั้งหมด 3 เข็ม ฉีดห่างกัน 6 เดือน ทั้งนี้สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 – 45 ปี

นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังควรป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกยุงกัด เช่น จุดยากันยุง ทาครีมหรือสเปรย์กันยุง พร้อมกับควบคุมสิ่งแวดล้อมทั้งในและรอบบ้านด้วย ทั้งการจัดบ้านให้โปร่งโล่งไม่อับชื้น เปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่มีน้ำขังทุก 7 วัน ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ หรือใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำ และหากพบผู้ป่วยไข้เลือดในบ้านหรือในชุมชน ควรใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อฆ่ายุงลาย ป้องกันไม่ให้ไปกัดคนอื่นต่อไป  

Written By
More from pp
เงินติดล้อ จัดกิจกรรม TIDLOR Culture Wow ให้กับเหล่าผู้นำ ธ.ก.ส. แลกเปลี่ยนการสร้างวัฒนธรรมองค์กร
บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR โดย คุณกาญจน์ณัฐ เฉลิมจุฬามณี ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้เงินติดล้อ (TIDLOR Academy)...
Read More
0 replies on “ไข้เลือดออกป้องกันได้ด้วยวัคซีน”