การจะ “รู้-เรียน-เล่น” สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อน คือ “กฎกติกา” ในเกมนั้นๆ
เรื่อง “การบินไทย” ก็เหมือนกัน
เมื่อวาน (๑๕ พค.๖๓) ปูพื้นให้เข้าใจกันไปแล้วระหว่างคำว่า “ฟื้นฟู” กับคำว่า “ล้มละลาย” ในตาหมาก “การบินไทย”ก็เข้าใจกันให้ชัด
ที่เห็นตามหัวข่าวว่า “การบินไทยขอล้มละลายหรือเข้าสู่ขั้นตอนล้มละลาย” นั้น
ผิด ทั้งข้อเท็จจริงในความเป็นจริงปัจจุบัน ผิดทั้งขั้นตอนในทางปฏิบัติตามกฎหมาย!
อาจารย์ “วิชา มหาคุณ” แยกแยะให้ทราบตามกฎหมายล้มละลายไปแล้วเมื่อวาน
คุณบรรยง พงษ์พานิช ผู้อยู่ในยุทธจักร Investment banking ได้สรุปแก่นๆ ให้ทราบไปแล้ว
เพื่อความเข้าใจชัดๆ ที่ตรงกัน คือ….
ขณะนี้ การบินไทยสู่เส้นทาง “ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ” ต่อศาลล้มละลายกลาง
ไม่ใช่ยื่นขอล้มละลายกิจการ อย่างที่พูด ที่บางคนเข้าใจ
“ฟื้นฟู” แปลว่า…….
“การบินไทยสะบัดต่อไม่รอแล้วนะ”
ไม่มีคำว่าคำว่า ล้ม, เจ๊ง ในพจนานุกรมการบินไทยอีกต่อไป สมาชิกสหกรณ์ฯ ที่ไปลงทุนไว้ ไม่ต้องนอนสะดุ้งจนเรือนไหว แห่กันไปถอนหรอก
แต่การไปถึงจุดนั้นได้ ในแผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอรัฐบาลเพื่ออนุมัติ จะต้องตอบโจทย์ ๔-๕ ข้อให้ได้ก่อน
อย่างเช่น หนี้สินจะบริหารยังไง ได้เงินกู้ฉุกเฉิน ๕ หมื่นล้านไปแล้ว เอาไปทำอะไรให้มันเกิดประโยชน์ในทางงอกเงย
ไม่ใช่ได้เงินไป ก็เอาไปจายหนี้, จ่ายเงินดือนไป ๒-๓ เดือน แล้วก็หมด
ซึ่งถ้าแบบนั้น การบินไทยต้องตั้งโรงพิมพ์ พิมพ์ธนบัตรใช้เองแล้ว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ทั้งนายกฯ ประยุทธ์ไม่ยอมเด็ดขาด
เอาหละ….
มีแผนการใช้เงินแล้ว ก็ต้องมีแผนหารายได้ที่มีตัวชี้วัดเจนด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียนเสนอไปมั่วๆ อย่างที่ผ่านมาเป็นอาจิน
แล้วเจ้าหนี้-เจ้าสิน ทั้งในและนอกประเทศ ร่วม ๕๐%ของยอดหนี้นั้น มีแผนเจรจาต่อรองยืดหนี้-ยืดสิน ลดต้น-ลดดอกอย่างไร?
แล้วไอ้โรค “ไขมันส่วนเกินพอกตับ” จะตัด-จะลดกันยังไง ทั้งบุคลากร ทั้งเรื่องตุกติกขายตั๋ว ซื้อน้ำมัน ซื้อเครื่อง ทั้งรายจ่ายจริง-รายจ่ายแฝง ทั้งพวกเสือนอนกิน
และทั้งประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนต่างๆ โดยเฉพาะ ปัญหาการเมืองและอำนาจนอกระบบที่เข้าไปแผ่อิทธิพลควบคุมการบินไทยตลอด
เนี่ย…..
การบินไทยต้องสารภาพบาปและสังคายนาตัวเองให้ตกผลึก รวมทั้งสหภาพฯ ทั้งบอร์ดด้วย
คือถึงจุดนี้ ต้องยอมตัดอวัยวะตัวเองบางส่วนทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตให้รอด
อย่างเช่น อำนาจบารมี, ผลประโยชน์, สิ่งอันไม่ควรได้ แต่ได้กันจนเคยตัว
ไอ้ที่…ให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ ๕ หมื่นล้าน ๘ หมื่นล้าน แล้วบอกว่า “การบินไทยของข้า…ใครอย่าแตะ” ทุกอย่างต้องคงเดิม นั้น
นี่ยุค New Normal แล้วนะ ให้ถือว่า สหภาพการบินไทยหรือใคร ไม่เคยพูดละกัน!
เมื่อวาน ผมอ่านที่ “คุณกรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้าโพสต์ เนื้อหาช่วยขยายความการขอฟื้นฟูได้ดี
Korn Chatikavanij
จากที่ทีม กล้า และผู้รู้หลายท่านได้นำเสนอแนววิธีการแก้ปัญหาวิกฤติ #การบินไทย โดยเฉพาะช่องทางการฟื้นฟูโดยกระบวนการที่ระบุไว้ในกฎหมายล้มละลาย
วันนี้ผมเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจในแนวคิดนี้มากขึ้น รวมไปถึงหลายคนในรัฐบาล
อาจารย์วิชา มหาคุณ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมากที่สุดท่านหนึ่งในประเทศ ได้แสดงความเห็นไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของบทความล่าสุดของท่านได้กล่าวว่า:
“กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฎหมายล้มละลายจึงเหมาะอย่างยิ่งกับ บริษัทมหาชนจำกัด อย่างการบินไทย เพราะถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ แต่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้”
ผมจึงขอยํ้าอีกครั้งนะครับว่า ในส่วนเรื่องของข้อเสนอค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทของรัฐบาลนั้น
การบินไทยควรเข้ากระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายก่อน แล้วรัฐบาลค่อยค้ำประกันหนี้ให้นะครับ
“เงินใหม่จะมีสิทธิมากกว่า เงินเดิม”
เพราะกฎหมายระบุว่า หนี้สินที่มีการกู้ยืม ‘หลัง’ คำสั่งฟื้นฟูของศาล
จะมีสิทธิเหนือกว่าหนี้สินที่การบินไทยมีอยู่เดิม (มาตรา 90/62 ทวิ พรบ. ล้มละลาย)
แต่หากปล่อยกู้หรือค้ำประกันเงินกู้ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู หนี้ส่วนนี้ จะมีสิทธิเพียงเทียบเท่าหนี้เก่า ทั้งๆ ที่เวลานี้ เราควรเจรจาลดภาระหนี้เก่าลงก่อน
หนี้ก้อนใหญ่ของการบินไทย เป็นหนี้เช่าซื้อเครื่องบิน เวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะเจรจาต่อรองลดหนี้ส่วนนี้
เพราะอุตสาหกรรมการบินยํ่าแย่ทั่วโลก
หากเจ้าของเครื่องบินคิดจะยึดไปก็ไม่สามารถจะขายต่อให้ใครได้ สู้ยอมเจรจากับการบินไทยดีกว่า
กระบวนการฟื้นฟู มีไว้เพื่อช่วยให้กิจการสามารถกลับมาเข้มแข็งได้ด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
เวลานี้ ไม่ใช่เวลาที่จะกลัวเสียหน้าครับ
นี่คือ ‘โอกาสทองที่จะเริ่มใหม่ ด้วยโครงสร้างและยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้จริง’
ถือเป็นการล้างบาปความผิดพลาดในการบริหารจัดการการบินไทยมาหลายยุคหลายสมัย
#การบินไทย
#กล้า #เรามาเพื่อลงมือทำ
ประเด็นที่เป็นหัวใจตามที่คุณกรณ์ “เกจิวาณิชธนกิจ” อีกผู้หนึ่งบอกก็คือ
๕ หมื่น-๘ หมื่นล้านน่ะ จิ๊บจ๊อย เผลอๆ ไม่ต้องมากถึงขนาดนั้นด้วยซ้ำ
เพียงแต่ให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูก่อนเท่านั้น รัฐบาลพร้อมค้ำประกันกู้ให้อยู่แล้ว
เข้าใจมั้ย …….
คือ ถ้าให้ไปตอนนี้ เงินก้อนนี้สิทธิเท่ากับเจ้าหนี้สามัญ สมมุติมีอะไรขึ้นมา การบินไทยสะบัดต่อไม่ได้ ต้องชำแหละขายแบ่งกัน
“เจ้าหนี้สามัญ” คือเจ้าหนี้เดิม (ก่อนเข้าแผนฟื้นฟู) โอกาสได้เงินคืนเต็มเม็ด-เต็มหน่อยน้อยมาก
แต่ถ้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้ว เจ้าหนี้บุริมสิทธิได้เงินคืนทันที ได้คืนชนิด “ครบทุกบาทสตางค์” ด้วย
บุริมสิทธิ คือ…………
“สิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตน จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ”
เข้าใจกันแล้วนะทีนี้
เงิน ๕ หมื่นล้านที่รัฐบาลจะค้ำให้การบินไทยก็ชัวร์ มีแต่เสมอต้น ซวยก็ได้คืน แต่ถ้าเฮง จะได้ทั้งต้น-ทั้งดอก กำไรอื้อ
จังหวะเหมาะแปลงหนี้เป็นหุ้น จะยิ่งกำไรเละเทะ!
แต่ทั้งหลาย-ทั้งปวง การจะได้มาอย่างว่า การบินไทยต้องเข้าสู่ระบบ “โฮลดิ้ง”
จากยานแม่ แตกเป็นยานลูกแต่ละสาขาธุรกิจ เป็น ๔-๕ บริษัท คลังหุ้นใหญ่ ต้องลดให้เหลือน้อยกว่า ๕๐% ทางนิตินัย
หมายความว่า ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ และนั่น “สหภาพฯ” ก็ต้องเลิกไปโดยปริยาย
มันเป็น strategic ไม่เพียง “แตกเพื่อโต” ยังแตกเพื่อไม่ตายอีกด้วย!
ความจริง มันพิลึกอยู่ การบินไทย เป็นทั้งรัฐวิสาหกิจ ทั้งบริษัทมหาชนและทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะว่าผิดก็ผิด ถูกก็ถูก
ไหนๆ ก็ยุค New Normal แล้ว ศัลยกรรมซะให้เข้ายุค-เข้าสมัย ให้การบินไทยไปโลดด้วยระบบยุทธศาสตร์โฮลดิ้ง จะแคล่วคล่องกว่า
ที่สำคัญ จะทำให้ “การเมืองและอำนาจนอกระบบ” เข้าไปสิงยาก!
สรุป………
บรรได ๒ ขั้น ที่การบินไทยต้องก้าวตามสเต็ป คือ
๑ การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ขั้นแรก ต้องร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯ
ศาลฯมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาปุ๊บ หนี้สินทั้งหมดอยู่ในสถานะ “พักชำระหนี้” ปั๊บทันที
เจ้าหนี้จะฟ้องหรือบังคับคดีไม่ได้!
ถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟู และเห็นชอบกับ “ผู้ทำแผน” ที่การบินไทยเสนอ
ก็จะมีคำสั่งตั้ง “ผู้ทำแผน” มีหน้าที่บริหารกิจการแทนบอร์ด และจัดทำ “แผนฟื้นฟูกิจการ”
“สามเดือน” ต้องเสร็จ
ถ้าไม่เสร็จ ให้ต่อได้ ๒ ครั้งๆ ละไม่เกิน ๑ เดือน!
หัวใจสำคัญของแผนฟื้นฟูก็อยู่ตรง “ข้อเสนอ” การปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งต้น, ดอก, ทั้ง ลด-แลก-แจก-แถม ทั้งเทอมเวลา ผู้ทำแผนต้องแจกแจงให้เห็นว่าเป็นไปได้
“การปรับโครงสร้างหนี้”…….
นี่แหละ ที่จะไปสู่บันไดขั้นสุดท้าย “เป็น-ตาย” ก็อยู่ตอน นี้ ตอนนำเสนอเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางพิจารณา ว่าจะเห็นชอบตามนั้นหรือไม่?
ถ้าเห็นชอบ ก็ไปโลด “ผู้บริหารแผน” จะเป็นกัปตันขับขี่การบินไทยไป ไม่เกิน ๕ ปี
นี่แนวทางนะครับ ส่วนแผนจริงของการ “แฮปปี้ แลนดิ้ง” การบินไทย สุดท้ายครม. จะเอายังไง ต้องรอฟัง
ข้อสำคัญ ใครล่ะ ที่การบินไทย พูดตรงๆคือรัฐบาลจะเลือกมาเป็น “ผู้บริหารแผน”
ต้องเจ๋งจริง เป็นที่ยอมรับและพอใจทั้งสองฝ่าย และต้อง “ลิ้นทอง” ถึงขนาดนั้น
เจ้าหนี้สหรัฐฯ คงไม่ยาก
วันนี้ ในยุค อวสานระบบทุนนิยม dollar is trash อยู่แล้ว คุยถูกใจ เจ้าหนี้พร้อมแปลงค่าเช่าเครื่องบินที่ค้างเป็นทุน ไม่ยาก..ไม่ยาก!
ยากอยู่แต่เรา “พวกเขา-พวกกู” อยู่นี่แหละ
LineID:plewseengern.com