ธรรมศาสตร์ในวันที่วังเวง – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

งงๆ กันอยู่…

            สืบเนื่องจากแถลงการณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บ้างว่าของปลอม

            บ้างก็ว่าจริงแท้แน่นอน

            แต่ดูแล้วน่าจะจริง

            เพราะดูจากสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่าง ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

            ในแถลงการณ์ธรรมศาสตร์ เรื่องขอให้คำนึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุมนั้น บอกว่า

            ….เพื่อแสดงข้อความห่วงกังวลดังกล่าวข้างต้นไปยังหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการดำเนินการตามกฎหมายโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม สิทธิและเสรีภาพ สวัสดิภาพของผู้ถูกจับกุม

            และพิจารณาให้ผู้ถูกจับกุมได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาคดีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

            รวมทั้งมีสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นหนึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนสากลและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยให้การคุ้มครองและรับรองไว้

            เพื่อให้ผู้ถูกจับกุมซึ่งเป็นนักเรียน นิสิต และนักศึกษาสามารถกลับมาศึกษาเล่าเรียนเพื่ออนาคตทางการศึกษาของเยาวชนเหล่านี้ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป….

            สอดคล้องกับ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” โพสต์เฟซบุ๊กบอกว่า…

            …การได้รับการประกันตัวในคดีอาญาหรือที่กฎหมายใช้คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” นั้นเป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาและจำเลยทุกคน

            ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

            แม้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๘/๑ ศาลจะมีดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวได้

            แต่สิ่งที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอาจจะลืมไปคือ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์นั้น หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกเอาไปขังไว้ในเรือนจำกับนักโทษที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และจะถูกปฏิบัติเหมือนกับนักโทษแทบจะทุกประการ

            และนี่คือปัญหาใหญ่มาก

            เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ วรรคสอง บัญญัติว่า ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

            การเอาบุคคลซึ่งยังเป็นแค่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปขังไว้ในเรือนจำรวมกับนักโทษ ก็คือการปฏิบัติกับเขาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ซึ่งย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ วรรคสอง

            ดังนั้น หากศาลท่านจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ก็ต้องสั่งให้ไป กักขังในที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ

            และให้ปฏิบัติต่อเขาแบบคนที่ยังไม่ถูกศาลพิพากษาด้วยครับ

            หรือไม่งั้นก็ต้อง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้เขาสู้คดีนอกคุก อย่างหนึ่งอย่างใด

            หาไม่แล้วจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ วรรคสอง ที่คุ้มครองประชาชนทุกคนไม่ให้ถูกปฏิบัติเยี่ยงนักโทษก่อนศาลพิพากษา….

            อ่านจบก็ฟันธง!

            แถลงการณ์ธรรมศาสตร์ของแท้แน่นอน

            และคนออกแถลงการณ์ก็กลุ่มเดียวกับ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” นั่นเอง

            ทีนี้ปัญหามันคือ นักวิชาการ มักมองอะไรมุมเดียว

            การอ้างวิชาการ อ้างกฎหมาย ต้องอ้างให้ครบ อย่าจับเฉพาะมุมใดมุมหนึ่งมา แล้วรวบรัดสรุปเอาตามที่ตัวเองต้องการ

            ธรรมศาสตร์ และจานปริญญา ต้องกลับไปดูข้อเท็จจริงก่อนว่า กี่คดีแล้ว ที่ลูกศิษย์ ๓ นิ้วของท่าน ได้ประกันตัว

            และศาลกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวไว้ว่าอย่างไรบ้าง

            หลายคดีตำรวจปล่อยตัวหลังรับทราบข้อกล่าวหา  ทั้งๆ ที่เป็นคดีซ้ำเดิม

            ในแง่การให้โอกาส

            ไม่ว่าจะเป็น เพนกวิน อานนท์ ไมค์ รุ้ง ไผ่ ได้รับโอกาสมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

            โดยเฉพาะเพนกวิน ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ ได้ประกันตัวจากคดีตามหมายจับข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา  ๑๑๖ และข้อหาอื่นๆ รวม ๗ ข้อหา

            ศาลตั้งเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน

            ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน เพนกวิน  รุ้ง คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน

            ยกมาเป็นน้ำจิ้ม ของจริงมีอีกเยอะ

            ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

            ไม่มีความชิงชังส่วนตัว

            เมื่อจำเลยทำความผิดซ้ำ ศาลไม่มีทางเลือกอื่น

            แต่ ธรรมศาสตร์โดยคนบางคน กำลังบอกให้ศาลเก็บกฎหมายไว้ในลิ้นชัก แล้วใช้ความรู้สึกพิจารณาคดีแทน

            มันใช่หรือ?

            “จานปริญญา” เคยหยิบ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์  พุทธศักราช ๒๔๗๙ ขึ้นมาอ่านบ้างหรือเปล่า

            โดยเฉพาะมาตรา ๔

            (๑) “เรือนจำ” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้ควบคุมกักขังผู้ต้องขัง กับทั้งสิ่งที่ใช้ต่อเนื่องกัน และให้หมายความรวมตลอดถึงที่อื่นใดที่รัฐมนตรีได้กำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษาวางอาณาเขตไว้โดยชัดเจน

            (๒) “ผู้ต้องขัง” หมายความรวมตลอดถึงนักโทษเด็ดขาด คนต้องขังและคนฝาก

            (๓) “นักโทษเด็ดขาด” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษด้วย

            (๔) “คนต้องขัง” หมายความว่าบุคคลที่ถูกฝากขังไว้ตามหมายขัง

            (๕) “คนฝาก” หมายความว่าบุคคลที่ถูกฝากให้ควบคุมไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นที่ไม่มีหมายอาญา

            มาตรา ๑๑ คนต้องขังและคนฝากให้แยกขังไว้ต่างหาก “จาก” นักโทษเด็ดขาดเท่าที่จะกระทำได้

            จะให้ส่ง เพนกวิน-รุ้ง ศิษย์รักไปนอนโรงแรม ๕ ดาวหรืออย่างไร

            ไม่ผิดหรอกครับที่บอกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙  วรรคสอง บัญญัติว่า ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

            คนฝาก, คนต้องขัง ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ก็ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์

            เพราะยังไม่ต้องคำพิพากษา

            แต่ “จานปริญญา” ก็น่าจะรู้ว่า เรือนจำมีหลายแดน

            คนฝาก, คนต้องขัง ทางเรือนจำเขาไม่ได้จับไปขังปนกับผู้ต้องขัง นักโทษเด็ดขาด แน่นอน

            กปปส.ก็เพิ่งโดนแบบนี้ ไม่เห็น “จาน” ร้องสักแอะ

            นี่คือปัญหาใหญ่มาก

            ครูบาอาจารย์คือเบ้าหลอมของศิษย์

            ถ้าเบ้าไม่ตรง ศิษย์ก็ออกมาไม่เที่ยง

            ถ้า “จาน” รักศิษย์จริง “จาน” ควรจะเตือนศิษย์ก่อนที่ศิษย์จะทำผิดกฎหมาย

            ไม่ใช่ให้ท้าย ให้ศิษย์ท้าทายกฎหมาย

            แบบนี้เค้าเรียกว่า “จาน” รังแกศิษย์.

Written By
More from pp
นายกฯ ห่วงใย แรงงานไทยในมาเก๊า ส่ง รมว.สุชาติ เยี่ยมให้กำลังใจถึงสถานประกอบการ
4 กุมภาพันธ์ 2566-นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน...
Read More
0 replies on “ธรรมศาสตร์ในวันที่วังเวง – ผักกาดหอม”