COVID-19 ไวรัสร้ายทำลายหัวใจ

แพทย์เตือน COVID-19 ไวรัสร้ายที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว มีโอกาสเสียชีวิตสูงแพทย์หญิงชาดา โชติพันธุ์วิทยากุล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า COVID-19 เป็นไวรัสที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปอดและระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจด้วย

โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น โรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งพบว่าโดยทั่วไปแล้วการทำงานของหัวใจและระบบไหวเวียนเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าคนทั่วไป

อีกทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ และมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอตามธรรมชาติของวัย ดังนั้นหากติดเชื้อ COVID-19 จะยิ่งทำให้โรคมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีการตรวจพบการอักเสบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เยื่อบุหลอดเลือดทั่วร่างกาย ในผู้ที่เสียชีวิต

ซึ่งการอักเสบนี้จะทำให้การไหลเวียนเลือดบกพร่อง เซลล์และเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน จนทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดเฉียบพลันในหลอดเลือดหัวใจ ปอดอักเสบรุนแรงและภาวะระบบการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการติดเชื้อนี้จะทำให้การควบคุมโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมทำได้ยากขึ้น และเกิดภาวะหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน

ในส่วนของผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว และแข็งแรงดีมาก่อนแต่ได้รับเชื้อ COVID-19 พบมีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัสได้ โดยอาศัยการวินิจฉัยจากการตรวจพิเศษทางหัวใจเพิ่มเติม

ซึ่งภาวะนี้จะทำให้การบีบตัวของหัวใจแย่ลง ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอดตามมา

นอกจากนี้การใช้ยารักษา COVID-19 เอง ก็มีรายงานว่าทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจได้เช่นกัน พบว่าการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาต้านมาลาเรียอาจทำให้เกิดการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ (QT Prolongation) ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่อายุน้อยและแข็งแรงดีมาก่อน

ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ COVID-19 จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับเชื้อ COVID-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่รวมกันในที่แออัด รวมถึงรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที

ด้านแพทย์หญิงสมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า โดยปกติแล้วผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทั่วไปง่ายกว่าคนปกติ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เพราะเชื้อเหล่านี้จะเจริญเติบโตได้ดีในภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและร่างกายมีภูมิคุ้มกันน้อยลง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าผู้ป่วยเบาหวานจะมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

แต่พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับเชื้อ COVID-19 มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว โดยผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทยที่เสียชีวิต มีประวัติเป็นโรคเบาหวานถึงร้อยละ  50 และมีอายุเพียง 30-40 ปีเท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไปจึงทำให้ร่างกายกำจัดไวรัสได้ยากและมีภาวะการอักเสบที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังมีระดับเอนไซม์โปรตีน ACE2 receptors สูงขึ้น เมื่อรับเชื้อไวรัสเข้าไปแล้วจะทำให้ผนังหลอดเลือดบางลง เกิดภาวะปอดบวม มีน้ำคั่งในถุงลม เป็นเหตุให้การหายใจล้มเหลวได้ง่าย และยังทำให้ผู้ป่วยบางรายท้องเสียร่วมด้วย

สำหรับในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ผู้ป่วยเบาหวานควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. ป้องกันไม่ให้รับเชื้อ เช่น กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือให้บ่อยที่สุดก่อนสัมผัสหน้าหรือรับประทานอาหาร ทั้งผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวควรหลีกเลี่ยงการพบปะหรืออยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด 

2. ดูแลสุขภาพให้พร้อมรับมือกับโรค เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ห้ามขาดยา โดยตรวจสอบปริมาณยาที่มีอยู่และติดต่อแพทย์เมื่อยาใกล้หมด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนและทำใจให้ไม่กังวลจนเกินไป เพราะความเครียดทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ 

3. เมื่อเจ็บป่วยต้องรีบพบแพทย์ อย่ากลัวที่จะไปโรงพยาบาลและอย่ารอจนอาการหนัก

แพทย์หญิงชาดา โชติพันธุ์วิทยากุล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

โรงพยาบาลเวชธานี

แพทย์หญิงสมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

โรงพยาบาลเวชธานี

Written By
More from pp
“วราวุธ” เสียใจ เหตุสลด เด็กนักเรียน ม.2 ย่านสวนหลวง ย้ำ ขอรอฟังข้อเท็จจริงก่อนว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเด็กพิเศษหรือไม่
29 มกราคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวว่า กรณีเด็กนักเรียนชาย ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่เขตสวนหลวง...
Read More
0 replies on “COVID-19 ไวรัสร้ายทำลายหัวใจ”