“โลก”……..
ไม่ได้มีแค่โควิด ที่เราต้องหมกมุ่น ฉะนั้น วันนี้ ละมุมโควิดไปมองมุมอื่นบ้างดีมั้ย?
ก่อนโควิดมา ก็เตรียมตัว Disrupt สู่ยุคเทคโนโลยี AI แต่พอโควิดมาตูมเดียว
Disrupt หายจ้อย มิติ New Normal เข้ามาแทน!ผมดูว่า สังคมนิว นอร์มอล เป็นรูปธรรม มาแบบ “สึนามิ” ส่วนดิสรัปท์ มาแบบ “น้ำเซาะหิน”
สิ่งหนึ่ง ที่เป็นตัวแปรสำคัญของโลก มีผลบวก-ลบกับชีวิต-เศรษฐกิจ-การเมือง-การบ้าน จะบอกว่า “ทุกการ” ก็พูดได้
มันได้เปลี่ยนฉับพลันแล้ว
และมันจะเป็น “ค่าตั้งต้น” ของมิติ “นิว นอร์มอล” ของคนทั้งโลกและของโลก
นั่นคือ “พลังงาน”
พูดให้ตรงตัว คือ “น้ำมัน” ที่เกิดภาวะ “ล้นโลก” ชนิดคนขายต้องแถมเงินให้คนซื้ออีกตะหากในทางเทคนิก!
เรียกว่า กลไกลตลาดน้ำมันโลก ระเบิดตูม คนตายเกลื่อน ไม่ใช่คนใช้น้ำมัน
แต่เป็นประเทศกลุ่มค้าในทุกตลาดน้ำมันในทุกภูมิภาคโดยเฉพาะสหรัฐฯ หลายบริษัทน้ำมันกำลังล้มละลาย!
ราคาน้ำมันติดลบ แม้แค่ช่วง “ปิดบัญชี” ซื้อขายประจำเดือนก็เถอะ แต่มันสะท้อนภาวะจริง น่าสะพรึง
ช่วงนี้ บ้านเรา น้ำมันตามปั๊ม เหลือลิตรละ ๑๐ บาทกว่า เหมือนย้อนกลับไปประมาณ ๓๐-๔๐ ปีก่อน
น้ำมัน คือต้นทุนสินค้าทุกชนิด จะพูดว่าเป็น “ต้นทุนชีวิต” ก็ไม่ผิด
ตลาดน้ำมัน เซต ซีโร่ ตั้งต้นสู่มิติ New Normal นำร่องไปแล้ว
ประเด็นที่อยากส่งสัญญานให้รับรู้ล่วงหน้ากัน ก็คือ
นอกจากสหรัฐฯ “มาเฟียน้ำมันโลก” บาดเจ็บสาหัส
“สิงคโปร์” ประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชีย ก็สาหัสไม่แพ้กัน จะ “ปางตาย” ด้วยซ้ำ
สิงคโปร์ไม่มีบ่อน้ำมัน…..
เพียงอยู่ตรงช่องแคบมะละกา เรือสินค้า-เรือน้ำมัน ต้องมาลอด-มาเปลี่ยนถ่ายตรงจุดเชื่อม ๒ มหาสมุทร
บรรดาผู้ค้าน้ำมันจึงมารวมตัวกันตั้งสำนักงานอยู่ที่สิงคโปร์ ซื้อขายน้ำมัน เปิดเป็น “ตลาดกลาง” ในภูมิภาคนี้
ราคาซื้อขาย ไม่ใช่สิงคโปร์กำหนด
บรรดาผู้ค้าขาใหญ่เหล่านั้นเป็นผู้ “กำหนดราคา” ส่วนสิงคโปร์คอยเก็บค่าต๋ง ค่าเจ้าถิ่นเท่านั้น
ที่เห็นไทยอ้างอิงราคาสิงคโปร์ ก็เพราะเหตุนี้ ไม่ใช่ไทยต้องเดินตามสิงคโปร์อย่างที่เข้าใจกัน
ก็มาถึงประเด็นที่พวกเราควรรู้แต่เนิ่นๆ ว่าต่อจากนี้ คำว่า “ราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์” จะเปลี่ยนไป
คำว่า “สิงคโปร์เศรษฐีน้ำมัน” ทั้งที่ประเทศไม่มีน้ำมันซักหยด คำนี้จะถูกลบออกไป
เพราะอะไร นี่แหละประเด็น ไม่ก็เคยศึกษามาก่อน เพิ่งได้อ่านจากเว็บ “โพสต์ทูเดย์” วัน-สองวันนี้ ขออนุญาตลอกต่อ ดังนี้
………………..
เว็บโพสต์ ทูเดย์
เบื้องหลังการล่มสลายของอาณาจักรน้ำมันสิงคโปร์
ฤา Hin Leong จะเป็นการล่มสลายของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางน้ำมันโลก?
ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์โดยดิ่งลง 305% มาอยู่ที่ -36.73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 20 เมษายน ตามเวลาสหรัฐ
ก่อนที่ปรับตัวขึ้นมาได้ทีละน้อยๆ แต่แนวโน้มของมันยังไม่ดีนัก
สาเหตุที่ราคาน้ำมันตกลงมี 2 เรื่อง คือสงครามปั๊มการผลิตเพิ่ม เพื่อดัมพ์ราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียเมื่อต้นเดือนมีนาคม
แต่ยังไม่ทันไร ราคาน้ำมันก็ตกลงตามธรรมชาติเพราะดีมานด์ไม่มี หลังจากประเทศต่างๆ ใช้มาตรการปิดเมือง
แม้ว่าซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียจะหันมาสงบศึกและตกลงที่จะลดกำลังการผลิตลงในนาม OPEC+
แต่ทุกอย่างก็สายเกินการณ์
ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีมากเกินไป มากจนมันล้นเกินไม่มีคลังจะเก็บ ทำให้ราคายิ่งตกลงไปอีก สถานกาณ์แบบนี้ คนเจ็บคือประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริษัทค้าน้ำมัน หนึ่งในนั้น คือ Hin Leong Trading แห่งสิงคโปร์
ต่อไปนี้ คือ สรุปย่อเรื่องราวการล่มสลายของบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
1.Hin Leong เป็นบริษัทค้าน้ำมันที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่เรารู้เรื่องภายในของบริษัทแห่งนี้น้อยมาก
ก่อตั้งขึ้นในปี 2506 โดยผู้อพยพชาวจีนในสิงคโปร์ชื่อว่า OK Lim หรือ Lim Oon Kuin ที่ต่อมา ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี
บริษัทนี้ คือยักษ์ใหญ่ระดับโลก ในด้านการขนส่งเชื้อเพลิง โดยมีฐานบัญชาการอยู่ในสิงคโปร์
2.ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา Hin Leong (ออกเสียงแบบภาษาจีนกลางว่า ซิงหลง) กลายเป็นหนึ่งในบริษัทค้าน้ำมันที่น่าเชื่อถือที่สุด
มีรายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นชื่อในเรื่องเหลี่ยมการต่อรองระดับเซียนที่ทำให้คู่เจรจาถึงกับเหงื่อตก
3.เพราะบริษัทนี้เก็บความลับทางธุรกิจเอาไว้อย่างดีทำให้ยิ่งใหญ่มานาน แต่ความลับไม่มีในโลก
เมื่อจู่ๆ ตลาดน้ำมันเจอมรสุมหลายลูกติดๆ กัน รากฐานของบริษัทก็เริ่มสั่นคลอน
4. ธนาคารต่างๆ เริ่มถามหาเงินที่กู้ไป เพราะบริษัทอื่นๆ เริ่มเจ๊งกันทีละรายๆ จนเกิดหนี้เสีย และแบงก์เหล่านี้ เริ่มได้รู้สึกทะแม่งๆ กับ Hin Leong ว่าอาจจะเข้าตาจนเหมือนรายอื่นๆ
5.ยักษ์ใหญ่ของการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มร่อนจดหมายถึง Hin Leong เมื่อต้นเดือนเมษายน หนึ่งในนั้นคือ JPMorgan Chase & Coไปจนถึง HSBC
เรียกร้องให้มีการชำระคืนเงินกู้เร่งด่วนทันที หลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
6.ปรากฎว่า Hin Leong ทนแรงกดดันได้ระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่นาน เมื่อแบงก์ต่างๆ ทวงหนักมากขึ้น แต่คว้าน้ำเหลวพวกเขาจึงจ้างทนายมาเร่งรัด
เท่านั้นเอง ความจริงจึงได้กระจ่างออกมา และอาจเป็นครั้งแรก ที่บริษัทที่ทำตัวลับๆ ล่อๆ มาตลอดยอมเปิดเผยความจริง
7.ในที่สุด OK Lim ก็ยอมรับว่าเขาซ่อนตัวเลขขาดทุนถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเก็งกำไรพลาดในตลาดในตลาดน้ำมันฟิวเจอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
และขอให้ศาลคุ้มครองทรัพย์สิน หรือพูดง่ายๆ คือล้มละลาย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
8.สาเหตุของการเก็งกำไรผิด มาจาก Hin Leong ไม่ได้เก็งว่าราคาจะตกต่อเนื่อง แต่เดิมพันในทางตรงกันข้ามโดยเชื่อว่าจีนจะควบคุมไวรัสได้ และความต้องการน้ำมันจะฟื้นตัวจากการตกต่ำในเวลาอันสั้น
เป็นการเดิมพันที่สวนทางกับคนส่วนใหญ่ แต่เป็นแนวทางของบริษัทนี้ ที่มักจะเก็งกำไรแบบดุดัน
9. ปรากฎว่า Hin Leong เก็งถูกว่าจีนจะควบคุมไวรัสได้และดีมานด์น้ำมันในจีนกระเตื้องขึ้นในเดือนมีนาคม แต่คาดไม่ถึงว่าโควิด-19 จะลามออกนอกจีนไประบาดทั่วโลก โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เมื่อโลกหยุดความต้องการน้ำมันก็หยุด
10.นี่คือสาเหตุที่เงินในบริษัทหมดเกลี้ยง แต่ข่าวร้ายยังไม่จบแค่นั้น OK Lim บอกว่า เขาได้ขายน้ำมันในคลังของบริษัทหลายล้านบาร์เรลอย่างลับๆ
ซึ่งเป็นน้ำมันที่จำนองไว้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน ทำให้ช่องว่างระหว่างสินทรัพย์ของบริษัทและหนี้สินอยู่ที่ราว 3,340 ล้านเหรียญสหรัฐ
11.ตอนนี้ Hin Leong มีหนี้จำนวน 3,850 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเจ้าหนี้ 23 รายรวมถึง HSBC, Societe Generale SA, Standard Chartered Plc และ Deutsche Bank AG โดย HSBC เป็นเจ้าของหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดที่ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในขณะที่ผู้ให้กู้ที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ 3 ราย เป็นเจ้าของหนี้ รวมกัน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ นั้น
12. สำนักงานตำรวจของสิงคโปร์กำลังสืบสวนเรื่องนี้ ในขณะที่หน่วยงานด้านการเงินของสิงคโปร์ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและทำหน้าที่ธนาคารกลางได้ติดต่อกับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของ Hin Leong แล้ว
แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่กับแค่ Hin Leong แต่กับสิงคโปร์ทั้งประเทศ
13. การล่มสลายของ Hin Leong มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อตลาดน้ำมันโลกและสิงคโปร์
เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บริษัทนี้ ยังซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว
14.Jean-Francois Lambert ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์และอดีตนายธนาคารการเงินการค้าของ HSBC กล่าวว่า
“ Hin Leong เป็นกลไกสำคัญในการช่วยส่งเสริมสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการค้าน้ำมันและศูนย์กลางขนถ่ายน้ำมัน”
15.คำถามก็คือ การล่มสลายของยักษ์น้ำมันรายนี้ จะสั่นคลอนสิงคโปร์ขนาดไหน?
สิงคโปร์มีฉายาว่า “ศูนย์กลางน้ำมันของเอเชียที่ไร้เทียมทาน” (the undisputed oil hub in Asia) มีซัพพลายมากพอที่จะรองรับวิกฤตได้
แต่สิงคโปร์อาจจะลืมนึกไปว่าวิกฤตครั้งนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ขาดน้ำมัน แต่น้ำมันล้นเกินจนไม่มีที่เก็บ และราคาลดลงเรื่อยๆ
16. ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกับ The New York Times ว่า คลังน้ำมันทั่วทั้งโลก มีความจุประมาณ 6,800 ล้านบาร์เรล และตอนนี้จุน้ำมันไปแล้วเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ศักยภาพการเก็บน้ำมันจะเท่ากันทุกประเทศ ตอนนี้พื้นที่จัดเก็บเกือบเต็มแล้วในประเทศกลุ่มแคริบเบียนและแอฟริกาใต้ และแองโกลา บราซิล และไนจีเรีย จะเต็มภายในไม่กี่วัน
17.เรื่องคลังเก็บน้ำมันในสิงคโปร์ตอนนี้ มีการระดมเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่มาเก็บน้ำมันไว้ที่นอกชายฝั่ง แต่ปัญหาที่ใหญ่พอกัน คือ
ยังมีบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่เก็งกำไรผิดพลาดแล้วซุกปัญหาไว้ใต้พรมหรือเปล่า?
เพราะหากยักษ์เหล่านี้ ล้มขึ้นมาจริง สิงคโปร์จะเจอวิกฤตสองเด้ง
คือโควิด-19 ที่จู่ๆ ก็ระบาดหนักที่สุดในอาเซียน และการซวนเซของธุรกิจหลักของประเทศ
ข้อมูลจาก How an Epic Gamble Exposed the Rot Inside OK Lim’s Oil Empire
โดยสำนักข่าว Bloomberg
………………..
ก็ขอบคุณเว็บ”โพสต์ทูเดย์”
อยากให้ศึกษาในทาง “รู้เขา-รู้เรา” ไว้ เพราะหลังโควิด ทั้งไทย ทั้งสิงคโปร์ เข้ามิติ New Normal เหมือนกัน
แต่ New Normal ของใคร จะแบบไหน?
นี่แหละ “โจทย์ใหญ่” ที่ท้าทายอนาคตมาก!