ยุคนี้ นักวิจารณ์เยอะ
ซึ่งเป็นเรื่องดี….
แต่ประเภท “ไม่อ่านเนื้อ” อ่านแค่พาดหัว ๒-๓ คำ แล้วหยิบไปวิจารณ์เป็นคุ้ง-เป็นแควนี่ซี
ไม่ค่อยจะดี!
อย่างเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลผลักดันออกมาใช้ตอนนี้
สื่อต่างๆมักจะพาดหัวทำนองว่า….
“รัฐบาลทุ่มแหลก ๓ แสนล้าน แจกเงินเที่ยว แจกคนจน-คนแก่” อะไรๆประมาณนี้
นักวิจารณ์ก็เอาเลย…..
รัฐบาลบ้อท่า รัฐบาลสิ้นคิด ผลาญเงินภาษีประชาชน แก้ไม่ถูกจุด
เป็นแสนๆ ล้าน เอาไปทำอะไรที่มันได้ประโยชน์กว่านี้ยังจะดีซะกว่า
นี่….
ช่วงนี้ จะเห็นนักวิจารณ์จากแค่ “ข่าวพาดหัว” ละเลงออนไลน์กันสะแด่วแห้วทำนองนี้
ยุคนี้ เป็นยุค “สื่อสารสองทาง” แค่มีมือถือ ใครๆ ก็เป็นเจ้าของสื่อได้
ฉะนั้น ว่าใครไม่ได้ เพราะยุคสมัยไอที เขาออกแบบให้เป็นอย่างนี้
จึงเป็นหน้าที่ “โฆษกรัฐบาล” การจะหยิบสาระทั้งก้อนป้อนเป็นข่าวสารไม่ได้
ต้องประดุจมารดาฟูมฟักทารก เคี้ยวข้าว-บดเอื้อง “แต่ละคำ” ให้ละเอียดก่อน ค่อยคายป้อน ทารกจึงจะกลืนได้
อย่างเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะให้ชาวบ้านค้นหารายละเอียดแยกย่อยในมาตรการเพื่อทำความเข้าใจ ร้อยจะมีซัก ๑๐ ก็ยังยาก
ส่วนใหญ่ มองปร๊าดจากพาดหัวข่าว…
เขาพาดหัวว่า รัฐบาลแจกแหลก ๓ แสนล้าน แจกให้ไปเที่ยวกันคนละพัน ก็สรุปจบแค่นั้น
แล้วสะท้อนจากความรู้สึกเอาเองเป็นทัศนะ ทำนอง
“ไม่เข้าท่าเลย เอะอะก็แจก”!
ก็เป็นที่เข้าใจกัน คำว่า “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นั้น เป็นศัพท์ทางวิชาการ
ชาวบ้านฟัง หลับตาไม่เห็นหรอกว่า คืออะไร จะได้อะไร
แต่พอบอกว่า”แจก”
ชัดเลย….
ยังไงๆ แม่ฉันต้องได้กินปลา..แม่ฉันจะได้กินกุ้ง!
ดังนั้น มาทำความเข้าใจกันสักนิดว่า มาตรการกระตุ้น หรือแจกกว่า ๓ แสนล้าน นั้น แจกอย่างไรกันบ้าง?
ความจริงรัฐมนตรีคลัง “อุตตม สาวนายน” และโฆษกรัฐบาล “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” แถลงแยกหมวดหมู่ไว้ค่อนข้างชัดเจน จะยกมาให้ดู
กลุ่มที่ ๑
“ผู้มีรายได้น้อย” ที่ถือบัตร “สวัสดิการแห่งรัฐ” จะเพิ่มวงเงินให้ ๕๐๐บาท ต่อเดือน
“ผู้สูงอายุ” ที่มีบัตรสวัสดิการ จะเพิ่มวงเงินให้เดือนละ ๕๐๐ บาท
“มารดาที่ต้องดูแลบุตร” ผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐ จะได้ ๓๐๐ บาท ซึ่งจะช่วยเพียง ๒ เดือน
กลุ่มที่ ๒
“กลุ่มเกษตกร” ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ที่เป็นลูกค้าธกส.จะได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ๐.๑%
-พร้อมขยายเวลาชำระหนี้ ๒ ปี
-สินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน ๕ หมื่นบาท ไม่มีดอกเบี้ยปีแรก
-สินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภัยแล้ง ไม่เกิน ๕ แสนบาท ต่อคน
-สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้ผู้ปลูกข้าวนาปี ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการส่งเสริมการเกษตรปี ๖๒/๖๓ ช่วยค่าปลูก ไร่ละ ๕๐๐ บาท ไม่เกิน ๒๐ ไร่
กลุ่มที่ ๓
“มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ชิม-ช็อปใช้” ทุกคนที่อายุ ๑๘ ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ในมาตรการนี้ ด้วยการลงทะเบียน ๑๐ ล้านคนแรก
จะได้รับคนละ ๑ พันบาท รวมเป็นงบ ๑ หมื่นล้านบาท
คือระหว่าง ๒๓ กย.-๑๕ พย.ผู้ลงทะเบียน เมื่อได้รับข้อความยืนยันแล้ว ก็ให้ดาวน์โหลดแอป “เป๋าตังค์” เพื่อรับสิทธิ์นี้
เรื่องแจกเงินเที่ยวคนละพัน…….
สังเกตว่าวิพากษ์-วิจารณ์กันบนฐาน “เข้าใจเอาเอง” มากต่อมาก แต่ถ้าศึกษาละเอียด จะเข้าใจ
นี่..ไม่ใช่แจก….
เป็นเทคนิกรัฐบาลยืมแรงคน ๑๐ ล้าน ช่วยกระจายกันออกไป “รดน้ำต้นไม้” ทั่วประเทศ ที่กำลังเหี่ยวเฉา ให้พอได้น้ำหล่อเลี้ยง “กันตาย” ตะหาก
แล้วน้ำ คือเงินคนละพันที่แจก สงสัยว่า ไปตกอยู่ในกระเป๋าใคร?
คำตอบ คือ….
เมื่อเข้ากระเป๋าชาวบ้าน ก็ไปสู่กระเป๋าผู้ค้า-ผู้ผลิต จากนั้น ไปสู่กระเป๋าลูกจ้างแรงงาน ตามโรงงาน ตามแหล่งผลิต
เมื่อเงินพันบาท หมุนๆๆๆๆ ๕- ๖ ตลบ ก็เกิดพลังงาน เป็นวงจรผลักดันให้เครื่องจักรธุรกิจ-เศรษฐกิจในระบบขับเคลื่อน
สุดท้าย ที่แจกไปเที่ยวคนละพันนั้น เมื่อวงจรเศรษฐกิจขยับเขยื้อน
ตัวเงิน ก็จะไหลกลับคลังในรูปแบบภาษีต่างๆ ในแต่ละขั้นตอน กินกาแฟแก้ว ไอติมแท่ง ต้องจ่ายแวตกันทั้งนั้น
และ ๑,๐๐๐ บาท ที่ว่าแจก นั้น…..
อย่าเข้าใจว่า รัฐบาลเอาเงิน ๑ พันมายัดใส่มือ เอาไปกิน ไปใช้ อะไรก็ได้ ตามใจชอบนะ
ยุคนี้ เป็นยุค Digital Economy นะจ๊ะ ที่รัก
ฉะนั้น รัฐบาลไม่แจกเป็นเงินสดหรอก ขืนแจกเงิน ก็จะเหมือนไอติมในอดีต ถึงปลายทาง เหลือแต่ไม้!
เขาจะจ่ายผ่านแอปที่ชื่อ “เป๋าตัง”
ต้องไปเที่ยวในจังหวัดที่แต่ละคนระบุว่าจะไปเท่านั้น
จะกิน จะดื่ม จะช้อป จะใช้เงิน ๑ พันนี้ ก็ต้องร้านที่ร่วมโครงการและติดตั้งแอป “เป๋าตัง” ไปรูดปรื๊ดเท่านั้น
นี่กฏ-กติกาคร่าวๆ จะเป็นอย่างนี้
ถ้าคนที่วิจารณ์แหลก-ด่าแหลก ทราบกติกา-มารยาทในการใช้เงิน ๑ พัน จะไม่ด่า
อย่างเก่ง ก็จะบอก…แบบนี้ รัฐบาลหลอกใช้ ให้ไปทำงาน ไม่ใช่ให้ไปเที่ยวนี่นา!?
ถ้าดูทั้งหมด จะเข้าใจ ที่ว่าแจก ๓ แสนกว่าล้าน ไม่ใช่แจก มันเป็นมาตรการจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจซึมกระทือ ที่ต้องดูแล คนด้อยโอกาส คนชรา
และที่สำคัญ พี่น้องเกษตกร ชาวไร่-ชาวนา ยังไงก็ต้องช่วยเขา ถ้าปล่อยให้คนกลุ่มนี้ตาย เท่ากับ “ตายทั้งประเทศ”
ที่สังเกต คนไม่ติดใจ ๒ มาตรการแรก แต่มาตะหงิดใจ ตรงแจกเงินเที่ยว ๑ พัน นี่แหละ
แต่เมื่อทราบว่า เหมือนจ้างไปทำงาน ไม่ใช่แจก ก็น่าจะคลายเกรี้ยวกราดตวาดด่ารัฐบาลไปได้บ้าง
กับรัฐบาลน่ะ เราประชาชน ต้องถือภาษิต “รักวัวให้ผูก-รักลูกให้ตี” ก็ต้องด่า ต้องตีไว้บ้าง ไม่งั้นจะเตลิด
อย่าง สส.รัฐบาลที่เป็นอึ่งอ่างไปเบ่งพองใส่ตำรวจนั่นปะไร
ได้ยศ ได้อำนาจ ได้วาสนา บางคน มักเป็นแบบนี้
ฉะนั้น เห็นอะไรไม่ดี ต้องช่วยกันตี ช่วยกันด่า ตามประสา “รักวัวให้ผูก”
๓ แสนล้าน เอาเข้าจริง ๆ มันเป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือ ผ่อนสั้น-ผ่อนยาว ซะละมาก
ที่ว่าแจก…
แจก (ทางอ้อม) จริงๆ ไม่กี่หมื่นล้าน บางคนสรุปว่า “เอาภาษีมาแจก”
เขาไม่ได้เอาภาษีมาหรอก แต่คลังเขารู้ว่ามีเงินประเภทกองทุน “กองทิ้ง” ไว้เฉยๆ ตรงไหนบ้าง
ก็ไขว้เขวมาให้เกิดประโยชน์ก่อน ให้สมกับความเป็นเงินที่ “ต้องทำงาน” ไม่ใช่เป็นกระดาษ ที่กองสุมไว้เหมือนขยะ
ประเทศไทยเวลานี้ เงินมี แต่เงินไม่ทำงาน
“เงินเฟ้อ” เป็นตัวบอกว่า เงินทำงานหรือไม่ทำงาน ขณะนี้ “เงินไม่ทำงาน”
เป้าหมายเงินเฟ้อ “หลุดกรอบ” ต่ำกว่า ๒ ไปมาก
สินค้ามี แต่คนไม่ซื้อ ไม่จับจ่ายใช้สอย ตอนนี้ จากไม่เฟ้อ กลายเป็น “เงินฝืด” ในลักษณะพิลึก
คือ เงินหมุนเวียนในระบบมี แต่ไม่มีออกมาในรูปการใช้จ่าย ทำให้ “สินค้าไม่มีราคา” ที่เรียก “ราคาตก”
การแจกคนละพันในรูป “จ้างไปเที่ยว” ก็คือ รัฐบาลเอาเงินให้คนช่วยเอาไปจับจ่ายใช้สอย “แก้เงินฝืด” นั่นส่วนหนึ่ง
เป้าหมาย เพื่อช่วยธุรกิจสินค้าพื้นบ้าน-รายย่อย ได้เคลื่อนไหว พอมีชีวิต-ชีวาเป็นราคาขึ้นมาได้บ้าง
วันนี้ คุยไม่สนุก น่าปวดหัวอีกตะหาก!
แต่เอาเหอะ ช่วงนี้ เป็นหัวเลี้ยว-หัวต่อ ยังจะมีเรื่องหวาดเสียวให้ตาค้างกันอีก
ฉะนั้น อะไรที่จะช่วยให้สังคมบ้านเมืองเรา “เพลาจากร้ายๆ” ลงได้บ้าง ก็ละสนุก เอาธุระกันบ้าง
วัน-สองวัน ขออนุญาตหายซักวัน-สองวัน ไม่ว่ากันเน้อ.