ผักกาดหอม
มีความพยายามสร้างชุดข้อมูลว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นกับความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว
มีการอ้างว่า “ยิ่งลักษณ์” ไม่มีส่วนในการสร้างความเสียหาย เพราะคุมนโยบาย
แต่ความผิดพลาดเกิดในระดับปฏิบัติ
มีการอ้างอิงคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ที่ให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงิน ๓๕,๗๑๗ ล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เท่ากับ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ต้องรับผิดชอบ!
หากอ่านโดยละเอียดคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อาทิ…
“…กรณีที่ สำนักงาน ป.ป.ช.มีหนังสือ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ แจ้ง ‘ยิ่งลักษณ์’ ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีขึ้นล่วงหน้าก่อนที่จะเปิดโครงการรับจำนำข้าว ๒ วัน เป็นการเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำ
เมื่อ ‘ยิ่งลักษณ์’ ได้รับหนังสือแจ้งจาก สตง. และสำนักงาน ป.ป.ช. ‘ยิ่งลักษณ์’ ก็ได้สั่งการตามอำนาจหน้าที่ โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาป้องกันดูแลการทุจริตตามอำนาจหน้าที่แล้ว
‘ยิ่งลักษณ์’ ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลเชิงนโยบาย มีข้อราชการที่ต้องบริหารกำกับดูแลมากมาย มิจำต้องถึงขนาดที่ ‘ยิ่งลักษณ์’ ต้องติดตามหนังสือสั่งการทุกฉบับ และตรวจสอบการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานทุกหน่วยงานดังกล่าวด้วยตนเองทุกกรณี
อีกทั้งหนังสือ สตง.และสำนักงาน ป.ป.ช. มิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ ‘ยิ่งลักษณ์’ ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด
จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ‘ยิ่งลักษณ์’ ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการตรวจสอบ…”
“…การที่กระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ ‘ยิ่งลักษณ์’ รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ ๒๐ ของความเสียหาย คิดเป็นเงิน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่ ‘ยิ่งลักษณ์’ ประกอบกับการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวมีการดำเนินการในรูปแบบของกรรมการซึ่งจะต้องอาศัยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก
แม้ ‘ยิ่งลักษณ์’ จะอยู่ในฐานะประธาน แต่ก็มิอาจมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ ยับยั้ง อนุมัติ เห็นชอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนได้…”
ครับ..นี่เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด
คดีนี้เมื่อปี ๒๕๕๘ “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในขณะนั้นลงนามหนังสือให้กระทรวงการคลังพร้อมแนบสำนวนไต่สวน ซึ่งมีการระบุตัวเลขความเสียหายจากการปิดบัญชีโครงการราว ๓๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังไม่นับรวมการปิดบัญชีของกระทรวงการคลัง ซึ่งระบุตัวเลขความเสียหายสูงถึง ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
กระทรวงการคลังในฐานะผู้ค้ำประกันโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ถอยหลังไปอีกหน่อย
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๙/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็น ๑ ใน ๑๖ นโยบายเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทยให้สัญญาไว้กับประชาชนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ภายหลังพบว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้น
คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจคณะกรรมการในการตรวจสอบและดำเนินการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งรวมถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
ภายใต้อำนาจตามคำสั่งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดสูตรการคำนวณค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละปีการผลิต
โดยใช้วิธี มูลค่าการรับจำนำข้าว-ความคุ้มค่าและประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ-มูลค่าที่ได้จากการระบายข้าว = ค่าเสียหายสุทธิ
จากการคำนวณดังกล่าว ทำให้ “ยิ่งลักษณ์” ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าว รวมเป็นเงินกว่า ๓๕,๗๑๗ ล้านบาท
๒๒ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า คำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งพิพาท เฉพาะส่วนที่ให้ “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท
โดยศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคำพิพากษาและออกคำบังคับให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าแต่อย่างใด
หมายความว่า ศาลมิได้สั่งให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้
แต่ใน ๓๕,๗๑๗ ล้านบาทนั้น “ยิ่งลักษณ์” ต้องรับผิดชอบ ๑๐,๐๒๘ ล้านบาท
ครับ…ที่ร่ายมาก็เพื่อความเข้าใจในที่มาของคดี เพราะมีการนำไปบิดเบือนว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะไม่เช่นนั้นต่อไปรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบชดใช้ในทุกนโยบายที่นำมาปฏิบัติ
ต้นตอการบิดเบือนมาจาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล”
มีการแชร์ต่อๆ กันในหมู่ สส.พรรคส้ม จนราวกับว่า พรรคส้ม มีนโยบายมิให้ฝ่ายการเมืองต้องรับผิดชอบใดๆ หากนโยบายที่นำมาใช้นั้นประสบความล้มเหลว
โดยมิได้ดูเจตนาว่า มีการทุจริต คอร์รัปชัน ในการดำเนินนโยบายหรือไม่
อย่างที่ทราบกันครับ แม้เสียงเตือนจากองค์กรต่างๆ บุคคลสำคัญๆ ไปยังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้ระวังการทุจริตในการดำเนินนโยบายซึ่งมีอยู่แทบทุกระดับ มิได้เป็นคำสั่งทางปกครอง
แต่เสียงเตือนทั้งหมด เป็นเสียงเตือนอย่างสุจริต ไม่อยากเห็นฝ่ายการเมืองคดโกง เพราะนี่คือปัญหาที่เกาะกินประเทศมานาน
และหาคนมาแก้ไขมิได้
การปราบคอร์รัปชัน หลายๆ ประเทศมักเริ่มต้นโดยสถาบันตุลาการ
น้อยมากที่จะเริ่มโดยฝ่ายการเมือง
ฉะนั้นหากอยากให้คอร์รัปชันหมดไปจากประเทศไทย ก็อย่าไปคาดหวังว่าฝ่ายการเมือง จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ขนาดพรรคส้ม พรรคคนรุ่นใหม่ ที่บอกว่าทำงานการเมืองแบบใหม่ ก็ยังเกลือกกลั้วประเด็นนี้กับ “ยิ่งลักษณ์”
การมีสถาบันตุลาการที่เข้มแข็งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่ฝ่ายการเมืองไม่โปร่งใส.
