6 เมษายน 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (5 เม.ย. 2568) ตรงกับเวลาในสหรัฐฯ 09.00 น. โดยประมาณ นายกรัฐมนตรึประชุมร่วมกับคณะวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์ภาษีสหรัฐฯ เพื่อติดตามและนำมาเป็นข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในแต่ละประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดทางการค้าระหว่างประเทศครั้งนี้
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความหวั่นวิตกเกิดขึ้นอย่างหนักในสหรัฐอเมริกาเอง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันในวันศุกร์ (4 เม.ย. 2568) โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าโลกซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น ฉุดตลาดหุ้นตกลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ขณะที่ ดัชนี Nasdaq ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (bear market) ภาวะตลาดหุ้นตกต่ำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยต้องตั้งมั่นในฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำคัญของประเทศในการเจรจาในทุกมิติกับสหรัฐฯ
คณะทำงานของรัฐบาลไทยในการการเจรจากับสหรัฐฯ ต้องรอบคอบและกำหนดห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยให้ดีที่สุด
โดยวอร์รูม มีความเห็นตรงกันว่า “ช้าไปก็ไม่ดี เร็วไปก็เสี่ยง” จึงจำเป็นต้องรอบคอบ ซึ่งเห็นได้ว่าประเทศอื่นที่เริ่มการเจรจาไปก่อนการประกาศขึ้นภาษีของประธานาธิบดี ทรัมป์ ก็ไม่ได้ช่วยสถานการณ์ประเทศนั้นๆให้ดีขึ้นแต่อย่างใด กลับถูกตั้งกำแพงภาษีมากกว่าที่คาด ดังนั้น การเร่งรีบจึงไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นการประกาศ “ให้ของฟรี” กับอเมริกาไปก่อนหน้าการ ประกาศขึ้นภาษี
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่าวอร์รูมเห็นว่า ท่าทีของประเทศไทยหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นข้อมูลที่ เหมาะสมที่สุด ซึ่งถือเป็นเทคนิคการวางแผนในการเจรจาที่ประเทศไทยต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งวันนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศชัดเจนแล้ว คณะกรรมการฯเห็นว่า เรามีห้วงเวลาที่เหมาะสมและข้อมูลจากการดำเนินการมาตลอด 3 เดือน มีความพร้อมแล้ว ที่จะเจรจาอย่างเป็นทางการ
กรอบการเจรจาของรัฐบาลไทยมีหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงของการลดภาษี ศุลกากร การเปิดตลาดใหม่ๆรวมทั้งแนวทางในการปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับเกษตรกรของสหรัฐฯ ในการที่เราจะซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารคุณภาพที่ส่งออกไปสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกได้ให้ข้อมูลไปพร้อมๆกับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มาตั้งแต่ต้นปี เพื่อเตรียมรับมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่า การติดตามและตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเพื่อเป็นข้อมูลที่ ชัดเจนในการตัดสินใจแก้ไขปัญหานี้จะสามารถทำงานได้อย่างรอบคอบ เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายประเทศเขียนบทวิเคราะห์ตรงกันว่าบางประเทศตื่นตระหนกไปเจรจาก่อนการประกาศโดยยื่นข้อเสนอต่างๆไปโดยเปล่าประโยชน์
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์ระบุว่า รัฐบาลไทยประเมินสถานการณ์อย่างเป็นระบบมาอย่างต่อเนื่องโดยวันอังคารนี้ (8 เม.ย. 2568) เวลา 13:00 น. จะเป็นช่วงที่สรุปผล และกรอบของการเจรจา เพื่อทำให้ประเทศไทยและภาคธุรกิจส่งออกของไทย ได้ประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหานี้