4 เมษายน 2568 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมหารือกับทีม “OpenThaiGPT R1” ถึงผลสำเร็จโครงการ “OpenThaiGPT R1” โมเดล AI ภาษาไทยขนาดใหญ่ ที่มีความสามารถโดดเด่นด้านการวิเคราะห์และคิดเชิงเหตุผล (Reasoning) เทียบชั้นโมเดลระดับโลก แต่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า
นำทีมโดย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร และ ดร.สุเมธ ยืนยง จากสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และ บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด (iApp Technology) ซึ่งได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยมี ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. และ ผศ.ดร.ประมา ศาสตระรุจิ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (สบทศ.) เข้าร่วม ที่ห้องประชุมรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
หลังการหารือ น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า ขณะนี้ ประเทศไทยของเราสามารถพัฒนา “OpenThaiGPT R1” โมเดลปัญญาประดิษฐ์ด้านภาษาไทยที่ทรงพลังจากฝีมือคนไทยได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ซึ่ง OpenThaiGPT R1 นี้เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการวิเคราะห์และการคิดเชิงเหตุผล (Reasoning) ในบริบทของภาษาไทย โดยมี ขนาดเพียง 32 พันล้านพารามิเตอร์ แต่สามารถทำงานได้ดีกว่าโมเดลขนาดใหญ่กว่า เช่น DeepSeek R1 70B ด้วยคะแนนทดสอบเฉลี่ย 71.58% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งที่ทำได้ 63.31%
รมว.อว. กล่าวต่อว่า OpenThaiGPT R1 มีจุดเด่น คือ 1.ประสิทธิภาพสูง: ทำงานได้ดีกว่าโมเดลขนาดใหญ่ แม้มีขนาดเล็กกว่า 2.ประหยัดทรัพยากร: ใช้คอมพิวเตอร์น้อยลง ลดต้นทุนการใช้งาน 3.เชี่ยวชาญการคิดวิเคราะห์: เก่งด้านคณิตศาสตร์ ตรรกะ และการเขียนโค้ดในภาษาไทย และ 4.โอเพ่นซอร์ส (Open Source) เพื่อคนไทย: เปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับการศึกษา วิจัย และเชิงพาณิชย์
“OpenThaiGPT R1 เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนา AI ที่เข้าใจและใช้งานภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังใช้ทรัพยากรน้อยลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับโมเดลขนาดใหญ่ ทำให้การใช้งาน AI มีต้นทุนต่ำลง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นทั้งในภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า “เราต้องการให้ AI ไทยก้าวไกลไปสู่ระดับสากล และ OpenThaiGPT R1 คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จนี้”
ทั้งนี้ OpenThaiGPT R1 เป็นโมเดลแบบ Open Source ที่เปิดให้ใช้งานฟรี ทั้งสำหรับการศึกษาวิจัยและการใช้งานเชิงพาณิชย์ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด Qwen2.5 ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://openthaigpt.aieat.or.th/ และสามารถทดลองใช้งานฟรีได้ที่ https://chindax.iapp.co.th