แผนที่โลกยามนี้กว่า 180 ประเทศ เผชิญกับการจู่โจมแพร่ระบาดของ ไวรัส COVID -19 ส่งผลให้ปัจจุบัน มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก (6 เม.ย.) เกินกว่า 1.27 ล้านคน ยอดผู้เสียชีวิต 69,458 คน รักษาหาย 262,486 คน โดยยอดผู้ติดเชื้ออันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา และอันดับ 2 -3 คือสเปน และอิตาลี ส่วนในประเทศไทย มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันละกว่า 100 ตน ใน 62 จังหวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะผนึกกับบุคลากรการแพทย์ – สาธารณสุขและประชาชน ฟันฝ่าสงครามไวรัสในช่วงที่ยากลำบากนี้ และตั้งกองทุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรมสู้ COVID-19 เตรียมเปิดตัวนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชน แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ -สาธารณสุข
รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับสงครามโรคระบาด COVID-19 ซึ่งนับเป็น Disease Disruption โรคอุบัติใหม่จากไวรัสได้มาพลิกผันโลกและส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิต สังคมและเศรษฐกิจมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ขณะที่การคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ยังไม่สำเร็จ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขถือเป็นนักรบแนวหน้าในการต่อสู้ ยับยั้งการระบาดและดูแลสุขภาพของผู้ป่วย ขณะเดียวกันต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นแหล่งรวมของนักวิจัย พัฒนา วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ มีผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในด้านสาขาต่างๆ ได้จัดตั้ง กองทุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรมสู้ COVID-19 เพื่อระดมทุนและคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ให้ร่วมก้าวผ่านวิกฤติโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน
ผศ.ดร. ก่อพร พันธุ์ยิ้ม รองคณบดีฝ่ายบริหารและคลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กองทุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรมสู้ COVID-19 มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการระดมทุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อลดการระบาดของโรคและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางแพทย์ ระดมจิตอาสาร่วมกันทำงาน รวมถึงประสานงานกับธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้มีจิตศรัทธา จัดหาวัตถุดิบหรือวัสดุอุปกรณ์ เพื่อนำมาสร้างนวัตกรรมและผลิตเครื่องมือการป้องกันสำหรับแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วย โดยที่ผ่านมาภาควิชาเคมีและจิตอาสาได้ผลิต เจลแอลกอฮอล์ บรรจุขวดแจกจ่ายไปยังกลุ่มเป้าหมายภายในมหาวิทยาลัยและชุมชน, นักนวัตกรจากภาควิชาคอมพิวเตอร์ได้พัฒนา จับใจ สู้โควิด ซึ่งเป็น AI ที่ช่วยดูแลสุขภาพจิตใจในช่วงภาวะโรคระบาดโควิด-19 ล่าสุดนักศึกษาและจิตอาสานักวิจัยจากภาควิชาชีวการแพทย์และอุตสาหการได้ออกแบบพัฒนา โล่ใบหน้า MU Guard Face Shield สำหรับบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาล ส่วนในอนาคตจะมีนวัตกรรมต่างๆ ตามออกมาในเร็วๆ นี้
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดี ฝ่ายพัฒนาบุคลากรและสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมด เฉลี่ยแพทย์ 0.393 คนต่อประชากร 1,000 คน โดยเฉพาะแพทย์ที่ต้องรับภาระหนักดูแลผู้ป่วยในวิกฤติ COVID-19 ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน อีกทั้งปรากฏว่ามีบุคคลากรการแพทย์ที่ติดเชื้อกว่า 50 ราย รวมถึงพื้นที่ทางภาคใต้ ทีมวิศวะมหิดลได้ออกแบบ โล่ใบหน้า MU Guard Face Shield ป้องกันละอองกระเซ็นโดยนำองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อให้มีคุณภาพในการใช้งาน เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน โดยออกแบบด้วย 3D Printing นำเอาโมเดลมาทดลอง ล่าสุดได้พัฒนาดีไซน์โครงเป็นวัสดุอะคริลิค ใช้เครื่องตัด Laser Cutting ที่มีความแม่นยำ ตามแบบมาตรฐาน โดยได้ความร่วมมือจากจิตอาสา วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่มาร่วมประกอบชิ้นส่วนในลักษณะเป็น Kit พร้อมแนบใบคู่มือวิธีการประกอบ และส่งไปยัง รพ. ต่างๆ ที่ได้ขอความช่วยเหลือและมีความต้องการ สำหรับผู้ใช้นั้นสามารถประกอบได้เองอย่างง่ายดาย ทำความสะอาดได้ และเปลี่ยนแผ่นพลาสติกใสได้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมโดย รศ.ดร. ปัณรสี ฤทธิประวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้ส่งมอบ โล่ใบหน้า MU Guard Face Shield ไปยัง 25 โรงพยาบาลและหน่วยงาน ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เป็นจำนวนกว่า 2,000 ชิ้น อาทิ รพ.รามาธิบดี, รพ.ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รพ. ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จ.นครนายก, รพ.ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่, รพ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี, รพ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่, รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลระยอง, โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลพระพุทธบาท จ.สระบุรี, รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม, รพ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม, รพ.ศรีธัญญา จ.นนทบุรี, รพ.สุขภาพตำบลบ้านบางแพรก จ.นนทบุรี, รพ.แม่ระมาด จ.ตาก, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, สถานีตำรวจพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล, ด่านตรวจพุทธมณฑล, สหกรณ์ออมทรัพย์ ม.มหิดล, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จ.ปทุมธานี เป็นต้น
สำหรับ รพ. ใดที่ต้องการโล่ใบหน้า ติดต่อมาได้ที่ รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ โทร.09-6881–3375
ผู้สนใจร่วมสนับสนุนบริจาคเข้า กองทุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรมสู้ COVID-19 ได้ที่เลขบัญชี 333-2-00020-3 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อบัญชี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล