พลังแห่ง ‘โขนเด็ก’ ซอฟต์พาวเวอร์ของฟันน้ำนม

“ปกป้องชอบยักษ์ ปกป้องรักวัฒนธรรมไทยครับ” เป็นคำตอบของ ‘น้องปกป้อง’ ด.ช.คฑาฐ์สิริ ลิ่มศิลา วัย 6 ขวบ เมื่อถูกถามด้วยคำถามง่ายๆว่า ทำไมมาเล่นโขน?

คำตอบนี้ยิ่งทำให้เรื่องราวของน้องน่าสนใจมากขึ้น เมื่อได้ทราบภายหลังว่า พื้นฐานของปกป้องเป็นนักเรียนโรงเรียนอินเตอร์ คลุกคลีกับวัฒนธรรมนานาชาติ ก้าวเข้าสู่ห้องเรียนโขนครั้งแรกด้วยวัยเพียง 4 ขวบ และโลดเล่นอยู่ในวงการโขนเด็ก จนได้มีโอกาสไปแสดงในงานสำคัญระดับชาติหลายงาน และเป็นอินฟลูฯในโลกออนไลน์ด้วยคอนเทนต์โขนเด็กไปแล้ว นั่นทำให้เราเปลี่ยนจากการตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กน้อยคนนี้ถึงสนใจโขน มาเป็น..แล้วอะไรทำให้ทั้งเด็กไทย และผู้ปกครองมองข้ามศิลปะการแสดงแขนงนี้ แถมยังมีแนวโน้มถูกกลืนจากวัฒนธรรมสมัยใหม่ด้วย

‘โขนเด็ก’ นั้นไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ปรากฎหลักฐานในหนังสือเกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ 6 โดย วรชาติ มีชูบท บอกเล่าถึงการแสดงของคณะ ‘โขนสมัครเล่น’ (สมัครใจมาเล่น) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทำการแสดงโขนตอน ‘องคทสื่อสาร’ ผู้แสดงเป็นมหาดเล็กหลวงเด็กในพระองค์ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์และลูกหลานข้าราชบริพารที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่เด็ก มหาดเล็กเหล่านี้โตขึ้นกลายเป็นโขนสมัครเล่นฝีมือดี และมีผู้สนับสนุนให้จัดแสดงสม่ำเสมอ ดังนั้นตั้งแต่โบราณมา การฝึกหัดเด็กเล่นโขน จึงเป็นการสร้างฐานผู้ชม ผู้สนับสนุนโขนต่อไปในอนาคต ระหว่างทางยังสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแสดงด้วย

สำหรับตัวเด็กที่เป็นผู้ถูกฝึก ‘น้องปกป้อง’ เป็นภาพสะท้อนของผลลัพธ์ที่เด็กเล็กจะได้จากการเรียนโขนชัดเจน “แม่ไม่คาดคิดมาก่อน ว่าปกป้องจะไปรอด เพราะเดิมทีน้องเป็นเด็กรักสบาย แต่สิ่งที่ต้องเจอคือการฝึกอย่างเป็นระบบระเบียบ ใช้เวลานานในการแต่งตัว ต้องทนร้อน ทนฝน ทนรอ เมื่อแสดงต้องโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่แม้กระทั่งครั้งหนึ่งน้องตกเวที ก็ปีนขึ้นมาแสดงใหม่ได้ ซึ่งแม่ทึ่งและภูมิใจในตัวเขามาก” คุณเขมลภัสฐ์ เจือกุนทร แม่ของน้องกล่าว

พุทธิชัย โชติประดิษฐ์ (ครูลีโอ) ผู้กำกับการแสดงของน้องปกป้องและเหล่าโขนจิ๋วจากสถาบันเอกชนการละคร รวมทั้งเป็นเจ้าของรางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติปี 2565 ประเภทบุคคล สาขาศิลปะการแสดงรายการโขน ยืนยันว่า โขนเด็กคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก! โดยการันตีว่า เด็กโดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่ไม่มีทางอินกับการเรียนนาฎศิลป์ ประเภทรำฟ้อน รำวง ควรอย่างยิ่งที่จะได้ลองเรียนการเคลื่อนไหวร่างกายแบบโขนยักษ์และโขนลิง และควรนำศาสตร์ชั้นสูงนี้เข้าสู่ทุกชั้นเรียน รับรองว่าตอบโจทย์ผู้เรียน และเป็นการสร้างผู้ชมโขนและอนุรักษ์โขนต่อไปอย่างยั่งยืน โดยได้บรรยายไว้ในหนังสือชื่อ ‘วิทยาศาสตร์นาฏศิลป์ไทยโขนเด็ก’ ว่าการจะสร้างให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ย่อมต้องใช้พลวัตรในการขับเคลื่อนสูง ต้องการการประคับประคอง และการชี้แนะในเรื่องต่างๆ เมื่อเด็กมีเป้าหมายที่มั่นคง ผู้ปกครองสนับสนุน และได้รับการยอมรับจากบุคคลรอบด้าน ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ จิตใจมั่นคงไม่หลงผิด ชุมชนน่าอยู่ขึ้น เพราะปัญหาครอบครัวลดลง นั่นหมายความว่าสังคมมีเกราะป้องกันภัยที่ทรงพลังและแข็งแกร่ง ซึ่งเกิดจากศิลปะการเรียนโขนที่พัฒนาผู้เรียน และยกระดับจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์

ในด้านเศรษฐกิจ นี่คือซอฟต์พาวเวอร์ของฟันน้ำนม ที่สามารถต่อยอดลมหายใจให้อาชีพที่กำลังจะสูญหาย ได้กลับมาเดินต่อได้อีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นช่างศิราภรณ์ หรือช่างทำหัวโขน ช่างภูษาพัสตราภรณ์ หรือช่างทำผ้านุ่ง ช่างถนิมพิมพ์พาภรณ์ หรือช่างทำเครื่องประดับ นักดนตรี ตลอดจนช่างจิตรกรรม ประติมากรรม จึงสามารถพูดได้ว่า..โขนเด็กเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งที่สามารถทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างทรงคุณค่า

Written By
More from pp
 ‘โออาร์’ ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า EV Station PluZ เพิ่ม 24 จุด ที่ แฟชั่นไอส์แลนด์ เทอร์มินอล 21 และ เดอะพรอมานาด อำนวยความสะดวกผู้ใช้รถไฟฟ้า ตอบสนองเทรนด์พลังงานสะอาด
นายชุมพล สุรพิทยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) และ นายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ...
Read More
0 replies on “พลังแห่ง ‘โขนเด็ก’ ซอฟต์พาวเวอร์ของฟันน้ำนม”