30 พฤศจิกายน 2567 นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบหมายให้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) มีการรายงานการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจาก ทีม พม.จังหวัดในพื้นที่ประสบภัย ว่า
การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางของกระทรวง พม. ขณะนี้ยังเป็นไปได้ด้วยดี โดยเจ้าหน้าที่ พม. ทำงานประสานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ดีมากเพราะกระทรวง พม. ต้องชี้เป้ากลุ่มเปราะบางตามที่เรามีข้อมูลอยู่ทุกแห่ง ว่าใครอยู่ตรงไหนและแจ้งไปยัง อปท. เพื่อเข้าไปช่วยกันเคลื่อนย้าย เพราะกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มคนที่เราต้องให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากบางคนมีลักษณะติดเตียง เป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ซึ่งขณะนี้การประสานงานระหว่าง พม.-อปท. ทำได้ดีมากในทุกพื้นที่
นายนิกร กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคอื่นอยู่ด้วยก็ต้องเคลื่อนย้ายไปสู่โรงพยาบาล บางพื้นที่ในจังหวัดสงขลา น้ำยังมากอยู่ เนื่องจากมีน้ำไหลจากฝั่งมาเลเซียมารวมด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังหาดใหญ่ได้ โดยมีคลอง ร.1 เป็นหลักในการช่วยระบายน้ำ อาจจะต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง บางพื้นที่ระดับน้ำจึงเริ่มลดลงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางเนื่องจากเส้นทางสัญจรยังมีปัญหาอยู่บ้าง และเจ้าหน้าที่ พม.เอง หลายส่วนก็เป็นผู้ประสบภัยด้วย มือขวาช่วยประชาชน มือซ้ายก็ต้องช่วยตัวเองด้วย พยายามดูแลกันอยู่ และโดยทั่วไปสถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
ศบปภ. ของกระทรวง พม. รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ระบุว่า ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง (ระบบสมุดพกครัวเรือน หรือ MSO-Logbook) วันที่ 29 พ.ย. 67 ผลกระทบจากภัยพิบัติ 6 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง มีกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 2,325 ครัวเรือน จำนวน 40,846 ราย ประกอบด้วยเด็กเล็ก (0-5ปี) 3,353 ราย เด็กและเยาวชน (6-25ปี) 5,360 ราย คนพิการ 79 ราย ผู้สูงอายุ 7,524 ราย วัยแรงงาน (กลุ่มเปราะบาง) 24,530 ราย อย่างไรก็ตามผลกระทบที่มีต่อกระทรวง พม. ในเบื้องต้น มีหน่วยงานของ พม. ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดยะลา มีหน่วยงาน 4 แห่ง เจ้าหน้าที่ 49 คน อพม. 4,042 คน จังหวัดนราธิวาส มีหน่วยงาน 4 แห่ง เจ้าหน้าที่ 82 คน อพม. 77 คน จังหวัดปัตตานี มี อพม. 115 คน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหน่วยงาน 1 แห่ง เจ้าหน้าที่ 2 คน และจังหวัดพัทลุง มี อพม. 40 คน
การให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ดำเนินการโดยเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว เช่น ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา , ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดยะลา และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา ยะลา และปัตตานี อีกทั้งจัดตั้งโรงครัว ส่งทีม พม. หนึ่งเดียวลงพื้นที่เยี่ยมเยียนกลุ่มเปราะบาง มอบเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น มอบชุดเครื่องนอนให้กับผู้สูงอายุ จัดทำถุงยังชีพแจก ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำสิทธิสวัสดิภาพตามบทบาทภารกิจของกระทรวงพม. ประสานทีมพม. หนึ่งเดียวจังหวัด เพื่อดำเนินการวางแผนให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกันบูรณาการงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการอพยพกลุ่มเปราะบางเข้าศูนย์พักพิงและดูแลจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น จัดกิจกรรมสันทนาการสร้างความผ่อนคลาย ดำเนินการประสานกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดให้อพยพกลุ่มเปราะบางเข้าศูนย์พักพิง ประสานกับหน่วยงานในการขอรับสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารเครื่องดื่ม และสิ่งเครื่องใช้จำเป็นในการดำรงชีพ ประสานโรงพยาบาลในการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้แก่กลุ่มเปราะบาง
สำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกระทรวง พม. มีดังนี้
1.แผนก่อนเกิดภัย มีการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัย , จัดทำแผนเผชิญเหตุ และซักซ้อมการเตรียมการอพยพกลุ่มเปราะบาง , เสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. และภาคีเครือข่าย , การสื่อสารสาธารณะเพื่อเตือนภัยให้แก่กลุ่มเปราะบางผ่านช่องทางออนไลน์และเครือข่าย
2. แผนขณะเกิดภัย คือ พม. จัดทีมสอบข้อเท็จจริง คัดกรอง และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย เป็นการเฉพาะหน้า , สำรวจ และจัดเก็บข้อมูล เพื่อวางแผนการดำเนินการตามกระบวนการของการจัดการรายกรณี หรือ CM ในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ , ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยจัดทีมนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ลงพื้นที่และติดตามการช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นรายกรณี , สอบถามความต้องการ ปัญหา และอุปสรรค , การสื่อสารสาธารณะให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ
3. แผนฟื้นฟู เป็นการติดตามและประเมินผลการช่วยเหลือ , ฟื้นฟูด้านอาชีพ การมีรายได้ และการมีงานทำ , สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพของกลุ่มเปราะบาง , ปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้มั่นคง , พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางใน 5 มิติ และบันทึกข้อมูลลงในระบบ MSO-Logbook , การสื่อสารสาธารณะถึงช่องทางการให้บริการแก่ผู้ประสบภัย
ในขณะที่ พม.พัทลุง รายงานการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมในภาวะภัยพิบัติกรณีที่มีผู้โพสต์ผ่านสื่อออนไลน์ว่ามีญาติหายออกจากบ้าน อ. ศรีนครินทร์ไป 2 วันแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. ศรีนครินทร์ตรวจสอบพบศพชายอายุ 32 ปี ร่างไปติดอยู่กับขอนไม้กลางลำคลอง ทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุงจึงได้นำทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านของผู้ประสบเหตุ ทราบว่ามีการสันนิษฐานผู้เสียชีวิตเดินมาดูน้ำที่เอ่อล้นฝายบริเวณหลังบ้าน แล้วพลัดตกลงไปในลำคลองโดยไม่มีใครพบเห็น ทางพม. พัทลุงจึงได้เข้าพูดคุยและให้กำลังใจครอบครัว และร่วมวางแผนเพื่อพิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสม โดยเบื้องต้นช่วยเงินสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉินให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และจะลงพื้นที่ติดตามประเมินครอบครัวผู้ประสบเหตุต่อไปเป็นระยะๆ
พม. ปัตตานีรายงานสถานการณ์ว่า จนถึงช่วงเช้าวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ปริมาณฝนลดลง แต่จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีฝนตกหนักอีกครั้งในช่วงวันที่ 7-11 ธันวาคมนี้ แต่ในบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมสูงอยู่ อย่างไรก็ตามทางทีมพม.ปัตตานี ได้ทยอยเร่งอพยพกลุ่มเปราะบางไปยังศูนย์พักพิง เช่น ที่โรงเรียนนิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์มิตรภาพที่ 148 ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดปัตตานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดูแลช่วยเหลือ ขณะเดียวกันได้ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ร่วมกับทางจังหวัดทุกวัน เพื่อสรุปประเด็นและจัดหาทรัพยากรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้เส้นทางการจราจรอย่างถูกปิดอยู่หลายเส้นทางทำให้มีปัญหาเรื่องการขนส่ง
พม. นครศรีธรรมราชรายงานว่า พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชยังมีฝนตกบางพื้นที่แต่ในช่วงเช้าของวันที่ 30 พฤศจิกายนเริ่มมีแดด ทางทีม พม. นครศรีธรรมราช ได้จัดชุดเวรปฏิบัติการเตรียมพร้อมทั้งบุคลากร รถยนต์ น้ำมัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกปฏิบัติการ