เปลว สีเงิน
เรื่อง “เขากระโดง” ค้างโด่ไว้แต่วาน
วันนี้ต่อให้จบ
จะได้ไปตีกอล์ฟกันต่อที่ “สนามกอล์ฟอัลไพน์” ของครอบครัวทักษิณ ที่ “นายกฯ แพทองธาร” มีหุ้นอยู่ตั้ง ๓๐%!
ส่วน “เขากระโดง” ๕,๐๐๐ กว่าไร่นั้น คนร่วมพันครอบครัวบุกรุก แต่ไม่เป็นประเด็น
เป็นเฉพาะ “ตระกูลชิดชอบ” ที่ครอบครองอยู่ด้วย ๒๐๐ กว่าไร่
เมื่อเป็นเรื่อง-เป็นข่าวโครมคราม คนพูด ก็นำบางส่วนมาพูด คนฟังก็หลงเข้าใจว่า “ตระกูลชิดชอบ” ฮุบเขากระโดง!
การรู้เรื่องราวไม่ครบประเด็น นำสู่การทึกทักเพื่อความเข้าใจกันเอาเอง โดยใช้ทัศนคติ “ชอบ-ชัง” ในตระกูลชิดชอบ เป็นบทสรุปแห่งผิดและถูก
อย่างที่พูดกันตอนนี้ว่า “ศาลฎีกา” พิพากษาแล้วว่าเป็นที่การรถไฟฯ กรมที่ดินจะมาบอกว่า “ไม่เพิกถอนเขากระโดง” ได้อย่างไรกัน นั้น
นั่นก็พูดกันแบบ จับหางช้าง-ก็ช้าง,จับหูช้าง-ก็ช้าง มันไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก
ก็เข้าใจหละครับ สำหรับชาวบ้านอย่างผม-อย่างบางท่าน เรื่องกฎหมาย ก็รู้เท่าที่เขา “พ่นใส่” ให้รู้
ซึ่งจริงๆ แล้ว ในแต่ละเรื่อง มันไม่จบในมาตราเดียว วรรคเดียว หรือกฎหมายฉบับเดียวหรอก
อย่างเรื่องที่ดินเขากระโดง….
ก่อนอื่น เราต้องรู้ว่า “คำพิพากษาศาลฎีกา” ที่นำมาอ้างกันตอนนี้ เป็นมาอย่างไรก่อน
มาจากชาวบ้านที่อยู่ในที่ดินเขากระโดง ๓๕ ราย “เป็นโจทก์” ไปฟ้องการรถไฟฯ
คือเขามี สค.๑ ในที่เขากระโดง ก็ไปขอออกโฉนดที่ดินต่อ “สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์” แต่การรถไฟฯ ไปคัดค้าน
เรื่องจนไปถึง “ศาลฎีกา” มีคำพิพากษาออกมาว่า…
“รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้ง ๓๕ ราย มีสิทธิครอบครอง “ที่ดินพิพาท” ในอันที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้”
“การรถไฟ” ชนะ
“กรมที่ดิน” จึงแจ้งให้ “จังหวัดบุรีรัมย์” จำหน่าย ส.ค.๑ ในที่ดินพิพาทชาวบ้าน ๓๕ รายนั้น ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน
อีกราย ทำนองเดียวกัน คนเขากระโดงฟ้องการรถไฟ เนื่องจากไปยื่นขอออกโฉนด แต่การรถไฟยื่นคัดค้าน อ้างเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
“ศาลฎีกา” มีคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕๖๑ ว่า “โจทก์” ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
“อธิบดีกรมที่ดิน” ก็ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในน.ส.๓ (บางส่วน)ตามมาตรา ๖๑ แห่ง “ประมวลกฎหมายที่ดิน”
จะเห็นว่าคำตัดสินศาลมีผลเฉพาะ “ที่ดินพิพาท” ในรายฟ้องร้องเท่านั้น นำเอาคำตัดสินนั้นไปใช้กับที่ดินเขากระโดงทั้งหมดไม่ได้
และรายไหนที่ศาลบอก “ไม่ใช่ผู้มีสทธิครอบครอง”….
ทาง “กรมที่ดิน” ก็ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิผู้นั้น คืนสิทธิในที่ดินให้การรถไฟฯ ตามคำสั่งศาลฎีกาครบถ้วน
ที่ “การรถไฟ” เป็นโจทก์ “ฟ้องชาวบ้าน” ในที่ดินเขากระโดงก็มี เป็นการฟ้องขับไล่ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและนส.๓
เมื่อปี ๒๕๖๓ “ศาลอุทธรณ์ภาค ๓” ให้การรถไฟฯ ชนะ โดยมีคำพิพากษาว่า “ที่ดินพิพาทนั้นเป็นของการรถไฟฯ”
“ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและนส.๓” นั้น
“กรมที่ดิน” ก็เพิกถอนโฉนดและ “หนังสือรับรองการทำประโยชน์” ในที่ดินพิพาทนั้น ให้เป็นไปตามคำตัดสินศาล
สรุป ที่พูดกันว่า ศาลตัดสินแล้ว ที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ ทำไม “อธิบดีกรมที่ดิน” จึงกร่าง “ไม่เพิกถอน”?
ตรงนี้ เข้าใจสับสนกันไปเอง หรือพูดกันตรงๆ “ยังไม่เข้าใจ” ประเด็นกฎหมายและขั้นตอนครบถ้วน เมื่อท่านแถลงว่า
“คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง”
ก็ด่ากันขรม ว่าอธิบดีกรมที่ดิน สนองอำนาจรัฐมนตรีมหาดไทยบ้างละ เป็นคนของตระกูลชิดชอบบ้างละ
ท่านอธิบดีจะเป็น-ไม่เป็นคนของใครก็ช่าง….
แต่ท่านยึดบรรทัดฐานกฎหมายและสุจริตใจต่องานตามตำแหน่งหน้าที่ “ข้า-ราชะ-การ” ที่ไม่เสียชาติเกิดจริงๆ!
ที่อธิบดีกรมที่ดินบอกว่า “ไม่เพิกถอน”
เพราะท่านเดินไปตามบรรทัดกฎหมาย “ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๕” ที่บอกว่า
“คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีของศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น”
นั่นคือ คือคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ มีผลผูกพันเฉพาะที่ดินในรายที่ชาวบ้านกับการรถไฟฟ้องร้องกันเท่านั้น
จะเอาคำพิพากษาเฉพาะรายนั้นไปตีขลุม “เพิกถอนเอกสารสิทธิ” คลุมหมดทั้งเขากระโดงว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ แบบนั้นไม่ได้ และไม่ใช่!
ทั้งเขากระโดงจะเป็นของรถไฟทั้งหมดหรือไม่ทั้งหมด นั่น…ต้องพิสูจน์กันด้วยหลักฐานตามกรอบกฎหมาย
ดังที่ดำเนินตามขั้นตอนและมีปัญหา “คารา-คาซัง” อยู่เวลานี้ คือที่เป็นคดี “ทางการปกครอง”
โดยการรถไฟฯ ฟ้องกรมที่ดินกับอธิบดีกรมที่ดิน (คนก่อน) เป็นจำเลยที่ ๑ ที่ ๒
“เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง”
ที่ดิน ๒๐๐ กว่าไร่ ของตระกูลชิดชอบ ก็น่าอยู่ในคดีที่การรถไฟฯ ฟ้องกรมที่ดินต่อ “ศาลปกครอง” นี่แหละ
และ “ศาลปกครอง” มีคำพิพากษาไปเมื่อ ๓๐ มีนา.๖๖ นี้เอง
“ศาลปกครองกลาง” ให้อธิบดีกรมที่ดิน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน
ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
โดย “ให้การรถไฟฯ ร่วมคณะกรรมการสอบสวนฯ” ตรวจสอบ “แนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง”
เพื่อหาแนวเขตที่ดิน ที่เป็นของการรถไฟฯ “ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค ๓”
“อธิบดีกรมที่ดิน” ก็ตั้ง “คณะสอบ” ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
ซึ่งการรถไฟฯ ก็ได้ยื่นคำขอรังวัดทำแผนที่บริเวณเขากระโดง ส่งพิกัดกรอบพื้นที่บริเวณเขากระโดงให้คณะสอบ
ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบ แต่ที่สะดุด จนอธิบดีกรมที่ดิน “คนปัจจุบัน” บอกว่า
“เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง” มันอยู่ตรงนี้ครับ….
ตรงที่ “คณะทำงานร่วม” ในการรังวัดชี้แนวเขตร่วมระหว่างสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์และการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบตำแหน่งขอบเขตโดยรอบและจัดทำแผนที่ทางกายภาพ ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ
ปรากฏว่า แผนที่ของการรถไฟฯ จัดทำเมื่อปี ๒๕๓๙ เป็นการจัดทำ “ตามมติที่ประชุมกบร.จังหวัดบุรีรัมย์”
เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเดือดร้อนเกษตรกรกลุ่ม “สมัชชาคนจน” เมื่อ ๑๕ เม.ย.๓๙
“ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔”
แถมตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินรถไฟ ที่บอกว่ามีระยะทาง ๘ กม.
ได้ตรวจสอบทางรถไฟ โดยใช้วิธีอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี ๒๔๙๗, ปี ๒๕๑๑ ปี ๒๕๒๙ และ ปี ๒๕๕๗
ปรากฏว่า ทางรถไฟมีระยะทาง ประมาณ ๖.๒ กม.!
และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK)
สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง
มีความยาวของทางรถไฟประมาณ ๖.๒ กม.เช่นกัน
สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลาง ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
โดยให้การรถไฟฯร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง หาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค ๓
คณะกรรมการสอบสวนฯ มีความเห็นว่า…
“ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้”
เนื่องจากเป็นคู่กรณี ในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลาง มีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งเมื่อพิจารณาประเด็นการออกหนังสือ “แสดงสิทธิในที่ดิน” แล้วเห็นว่า “ดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว เห็นว่า “รับฟังได้”
“คณะสอบสวนฯ” จึงมีมติ ยืนยันความเห็นว่า
“ไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์”
จนกว่าจะมีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้
รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ
“อธิบดีกรมที่ดิน” จึงเห็นชอบตามคณะกรรมการฯเสนอยุติเรื่องในกรณีนี้
ว่า “ยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดิน
หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข”
พร้อมแจ้งให้การรถไฟทราบว่า….
“หากการรถไฟฯ เห็นว่ามีสิทธิในที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดิน จะต้องไปดำเนินการ “พิสูจน์สิทธิ” ในกระบวนการทางศาลต่อไป”.
อยากเข้าใจเรื่อง “เขากระโดง” ต้องทำตัวเหมือนคน “กินอ้อย” คือต้องกัดทีละคำ แล้วค่อยๆ เคี้ยวเพื่อให้ฟันและลิ้นคั้นน้ำ จากอ้อยฉ่ำเหลือแต่ชาน ก่อนคาย
แต่ถ้าไม่อยากเข้าถึงเนื้อหา เพียงต้องการอาศัยเรื่องเป็นเหตุด่าภูมิใจไทย ปักป้ายผู้ร้ายใส่ตระกูลชิดชอบละก็
ประตูซ้าย ไปพรรคประชาชน ….
ลึกเข้าไปซ้ายในซ้าย นั่น..ป้ายพรรคเพื่อไทย
เจ้าของเป็นเจ้าของ “สนามกอล์ฟอัลไพน์” ที่เราจะไปหวดกันพรุ่งนี้ไงล่ะ!
เปลว สีเงิน
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
ขอบคุณภาพ จาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี