สมิติเวชจับมือโรงพยาบาลซาโน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจ วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารแบบครบวงจร โดยปีที่ผ่านมาสมิติเวชมีการแลกเปลี่ยนแพทย์ระบบทางเดินอาหารไปศึกษาดูงานและเรียนรู้เทคนิคด้านการส่องกล้องเพิ่มเติม ณ โรงพยาบาลซาโน ประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยให้ความไว้วางใจมากขึ้น
ในปีนี้สถาบันโรคตับและระบบทางเดินอาหาร จัดประชุมวิชาการ ประจำปี 2567 Inside out: Optimized Gastroscopy เชิญ ดร. มิคิโอะ ฟูจิตะ (Dr. Mikio Fujita) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลซาโน และ ดร. โทโมฮิโระ ทาดะ (Dr. Tomohiro Tada) จากประเทศญี่ปุ่น พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารชั้นนำของประเทศไทย อาทิ รศ.นพ.วรายุ ปรัชญกุล รศ.พญ.รภัส พิทยานนท์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย รักษา และป้องกันก่อนเกิดโรค #เราไม่อยากให้ใครป่วย โดยจัดการบรรยายให้ความรู้และกิจกรรมเวิร์คช้อป หัวข้อพิเศษที่น่าสนใจดังนี้
· Early gastric cancer – Endoscopy Management: อัปเดตนวัตกรรมการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพิ่มความสามารถการตรวจ วินิจฉัย และรักษาได้อย่างรวเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย Dr. Mikio Fujita
· Work Shop: การส่องกล้องผ่าตัดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกโดยไม่มีแผลผ่าตัดหน้าท้อง สามารถใช้ในการรักษาของติ่งขนาดใหญ่หรือมะเร็งในระยะเริ่มต้น โดยใช้กล้องขนาดเล็ก (endoscope) คนไข้ไม่ต้องผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ไร้แผล ฟื้นตัวเร็ว ช่วยลดอัตราการกลับเป็นซ้ำเนื่องจากสามารถตัดเนื้องอกได้ทั้งหมด อัตราการกลับมาเป็นซ้ำจึงต่ำกว่าเทคนิคอื่นๆ
ดร. มิคิโอะ ฟูจิตะ กล่าวว่า การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ได้ถูกใช้เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างแพร่หลาย จากข้อมูลทางสถิติที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการส่องกล้องกระเพาะอาหารเพื่อการคัดกรองมะเร็งจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาสุขภาพโดยรวมในโลกปัจจุบัน เราจึงควรสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการส่องกล้องกระเพาะอาหาร และอัปเดตข้อมูลการส่องกล้องกระเพาะอาหารให้กับแพทย์ไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยรักษา
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและทำให้เสียชีวิตมากกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่นๆในร่างกาย โรคมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นภัยร้ายที่แฝงตัวเงียบเพราะไม่แสดงอาการแรกเริ่มให้เห็น และมีอาการเริ่มแรกที่ไม่จำเพาะเจาะจง อาจมีเพียงอาการปวดท้อง กว่าจะรู้ตัวก็เกิด
อาการรุนแรงและลุกลามไปตามอวัยวะใกล้เคียง ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจึงน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่เป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ หากเจอความผิดปกติในระยะแรกเริ่ม ด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร