เลี้ยงลูกด้วยจอ เสี่ยงภาวะออทิสติกเทียม

ลูกติดหน้าจอจนไม่สนใจใคร อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “ออทิสติกเทียม” ภาวะที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าคล้ายกับโรคออทิสติก

พญ.ปัทมาพร ทองสุขดี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital อธิบายว่า ภาวะออทิสติกเทียม หรือที่เรียกกันว่า Virtual Autism เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกคล้ายกับเด็กที่มีภาวะออทิสติก เช่น ชอบเล่นคนเดียว ไม่สนใจเด็กวัยเดียวกัน, ไม่สบตาเวลาพูดคุย, ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้, มักแสดงออกด้วยการโวยวาย มีอารมณ์ก้าวร้าว, พูดช้า พูดภาษาการ์ตูน หรือพูดตามโดยไม่เข้าใจความหมาย, และติดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน โดยไม่สนใจกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งนี้ อาการเหล่านี้จะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงอายุ 2 ปี

ความแตกต่างของออทิสติกแท้และออทิสติกเทียม ได้แก่ ออทิสติกแท้จะเกิดจากความผิดปกติของสมองโดยตรง โดยมีปัจจัยมาจากพันธุกรรม ซึ่งพบว่าเด็กออทิสติกประมาณ 10 – 20% มีความผิดปกติที่ส่วนจำเพาะของโครโมโซมหรือยีน รวมถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ภาวะแทรกซ้อนหรือการใช้ยาบางชนิดของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดมาพร้อมกับภาวะออทิสติก นอกจากนี้การที่คุณแม่สัมผัสกับสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก รวมถึงมลพิษ PM 2.5 อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดออทิสติกได้

ในขณะที่ออทิสติกเทียม เป็นภาวะที่เด็กขาดการกระตุ้นในการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) ส่งผลให้เกิดความล่าช้าทางการสื่อสารและมีพัฒนาการทางสังคมที่ไม่ปกติ โดยมีสาเหตุหลัก ดังต่อไปนี้

  • การขาดปฏิสัมพันธ์ : เด็กไม่ได้รับการพูดคุย เล่น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่น ๆ อย่าง เพียงพอ
  • การใช้หน้าจอมากเกินไป : การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์มากเกินไป ทำให้เด็กขาดการพัฒนาทักษะทางสังคม และมีการสื่อสารเพียงทางเดียว
  • การเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไป : การเลี้ยงดูที่ไม่ยืดหยุ่น หรือการปกป้องลูกมากเกินไป
  • การขาดการกระตุ้นพัฒนาการ : เด็กไม่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตามวัย

คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกเป็นออทิสติกแท้หรือออทิสติกเทียม แนะนำให้พาบุตรหลานเข้ารับการตรวจเช็กพัฒนาการกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยอาการให้ถูกต้องชัดเจน ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะช่วง 5 ปีแรกของเด็กเป็นช่วงวัยที่สมองมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ หากไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขที่ถูกต้องอาจทำให้เด็กผิดปกติไปในระยะยาว แก้ไขไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ดูแลอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอมากขึ้น อาการของภาวะออทิสติกเทียมจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับการเลี้ยงดู เช่น งดสื่อหน้าจอทุกชนิดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หากอายุมากกว่า 2 ปี ให้ดูจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และควรเป็นการดูร่วมกันกับผู้ดูแล โดยแบ่งระยะเวลาการดูเป็นช่วงๆ ทั้งนี้ต้องไม่ใช้จอเป็นเงื่อนไขให้เด็กทำอะไร เช่น ดูจอได้ระหว่างกินข้าว, เล่นกับเด็กให้มากขึ้น พูดคุยโต้ตอบแบบ Two-way Communication พูดคุยกับเด็กและเว้นจังหวะให้เด็กโต้ตอบ ฝึกให้เด็กมองหน้าสบตาเวลาพูดด้วย การเล่นบทบาทสมมติ, ฝึกกิจกรรมบำบัดเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม, และเปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
ปตท. เข้าควบคุมก๊าซฯ รั่วไหล บริเวณ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เรียบร้อย
นายโชคชัย ธนเมธี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 12.55 น. ของวันนี้ 22 ตุลาคม 2563 ได้เกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดเพลิงไหม้...
Read More
0 replies on “เลี้ยงลูกด้วยจอ เสี่ยงภาวะออทิสติกเทียม”