ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำหน่วยสัตว์น้ำ
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กระแสที่สังคมให้ความสนใจและยังมีข้อสังสัยอยู่ หนีไม่พ้น “ปลาหมอคางดำ” โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกเป็นปลาสวยงาม ระหว่างปี 2556-2559 ตามข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ ภายใต้ชื่อ “ปลาหมอสีคางดำ” ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorotherodon melanotheron และชื่อสามัญว่า Blackchin Tilapia
โดย 11 บริษัทผู้ส่งออกที่มีการเปิดเผยรายชื่อไปแล้วนั้น มีการยืนยันภายหลังจากหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นการลงระบบผิดพลาด ซึ่งความจริงคือเป็นการส่งออกปลาหมอเทศข้างลาย คำตอบนี้ยิ่งทำให้สับสนเพราะการส่งออกควรจะยึดชื่อที่เป็นสากลคือชื่อวิทยาศาตร์มาใช้พิจารณามากกว่าใช้ชื่อภาษาไทย ที่ใช้เฉพาะในประเทศเท่านั้นมายืนยันความถูกต้อง
ส่วนปลาหมอเทศข้างลาย เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis aureus มีชื่อสามัญหลายชื่อ คือ Blue tilapia, Israeli tilapia, Blue kurper และเป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) รูปร่างทั่วไปคล้ายคลึงกับปลานิล (Oreochromis niloticus) และปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) ซึ่งเป็นปลาในวงศ์เดียวกันและสกุลเดียวกัน ส่วนปลาหมอคางดำ ที่หน่วยงานภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าตามชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญดังกล่าวข้างต้นนับว่าเป็นปลาวงศ์เดียวกันแต่คนละสกุล พูดง่ายๆ คือ ปลาทั้ง 2 ชนิด เป็นญาติกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การจะพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าปลาที่ส่งออกกับปลาที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้เป็นปลาชนิดเดียวกันได้อย่างถูกต้อง คงต้องมีรูปภาพมายืนยันว่าตอนส่งออกนำปลาชนิดใดไปส่งออก จึงได้บันทึกในเอกสารส่งออกโดยชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญตรงกับปลาหมอคางดำ เพราะหน้าตาของปลาทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกัน ระดับผู้เชี่ยวชาญของรัฐเห็นภาพก็จะสามารถบอกได้ทันทีว่าคือปลาชนิดใด แต่จนถึงขณะนี้คงตรวจสอบยากเพราะเวลาผ่านมานาน
สำหรับผู้รับปลาปลายทาง เขาใช้ชื่ออ้างอิงตามชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญ ที่เป็นสากลในการสั่งซื้อและตรวจรับสินค้าแน่นอน ยกเว้นมีการทำผิดกฎหมายทั้งต้นทางส่งออกและปลายทางนำเข้า เพราะในฐานะผู้ส่งออกปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัท ต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ดีมากและไม่ควรผิดพลาดในการลงระบบโดยบริษัทชิปปิ้งตามที่กล่าวอ้างนานถึง 4 ปี ขณะที่ปลายทางประเทศนำเข้าและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องย่อมต้องตรวจสอบให้ปลานำเข้าตรงตามที่ระบุไว้ในเอกสาร หาไม่ปลานั้นต้องถูกตีกลับ (Reject) แน่นอน ดังนั้นต่อให้ชื่อภาษาไทยผิด ชื่อภาษาอังกฤษจะเป็นข้อมูลยืนยันความถูกต้องได้
ส่วนบริษัทที่นำเข้ามาเพาะเลี้ยงเพื่อการวิจัย มีการระบุไว้ว่าเป็นปลาหมอคางดำในวงศ์เดียวกับปลานิล ตามที่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (Institute Biosafety Committee : IBC) ตั้งแต่ปี 2553 ที่ต้องดำเนินการและปฏิบัติตามภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดตั้งแต่วันแรกที่นำเข้าจนถึงวันสุดท้ายที่ยุติโครงการวิจัยและทำลายปลา ทั้งนี้บริษัทผู้นำเข้าได้ส่งหลักฐานยืนยันการปิดโครงการกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างไร ส่วนนี้จึงต้องกลับไปตรวจสอบทั้งบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ตรวจสอบตามหน้าที่อย่างไร และมีหลักฐานการยืนยันการตรวจสอบแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ ทั้งปลาหมอคางดำและปลานิล ล้วนเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์เช่นเดียวกัน แต่มีชื่อสกุลและสปีชีส์ที่แตกต่างกันและถูกพูดถึงด้วยข้อมูลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งที่รสชาติและลักษณะทางกายภาพมีความคล้ายคลึงกัน อาจเพราะปลาหมอคางดำมีนิสัยกินเก่ง กินจุ กินได้หลากหลาย และทนทุกสภาวะ ทำให้อยู่ที่ไหนใดก็ไม่ได้รับการยอมรับ
ในเมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้ และรับทราบถึงกายภาพของเบื้องต้นเราควรปรับตัวอยู่กับมัน ด้วยการเจอแล้วจับ หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแทน จับแล้วก็ต้องบริโภคเป็นอาหารหรือใช้ประโยชน์จากปลาไปทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพ ปลาป่น ซึ่งเป็นการกำจัดปลาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ควรปล่อยปลากลับไปในแหล่งน้ำให้มีแพร่พันธุ์ต่อได้อีก
สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงปลาแบบดั้งเดิม มาเป็นการเลี้ยงเชิงคุณภาพมากขึ้น โดยการพักบ่อ ตากบ่อ โรยปูนขาว และกากชา ตามระยะเวลาที่กำหนดตามหลักวิชาการ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและสัตว์น้ำอื่นที่ไม่ต้องการ และการนำน้ำเข้าบ่อควรมีการกรองน้ำจากภายนอก โดยการใช้ถุงกรอง ป้องกันไม่ให้ศัตรูของสัตว์น้ำเข้าสู่บ่อ และนำมาพักในบ่อพัก ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนการปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยง และระหว่างการเลี้ยงควรเฝ้าระวังไม่ให้มีปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงหลุดรอดเข้าไป ก็จะช่วยทำให้สัตว์น้ำได้ผลผลิตตามที่ต้องการ