ในปีๆ หนึ่งบุคคลทั่วไปอาจโดน “สุนัขต้องสงสัย” กัดอย่างน้อยที่สุดเพียงปีละหนึ่งครั้ง แต่บุคลากรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่สัมผัสและใกล้ชิดสัตว์โดยตรงมีความเสี่ยงทุกวัน
“วัคซีนเรบีส์” เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงเป็นความหวังสู่ทางรอดของโรคติดเชื้อไวรัสชนิดรุนแรงที่เป็นแล้วต้องเสียชีวิตทุกรายดังกล่าว
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) พร้อมทำให้ความหวังของคนไทยที่จะได้มีวัคซีนเรบีส์ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยฝีมือคนไทยเป็นของตัวเองครั้งแรกได้เป็นจริงในอีก 8 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันการทดลองคิดค้นวัคซีนดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ และอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร ส่วนสายพันธุ์ของเรบีส์ไวรัสที่ใช้ทำวัคซีนได้ตีพิมพ์ในเบื้องต้นแล้วในวารสารวิชาการชั้นนำระดับนานาชาติของสหรัฐอเมริกา
โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การเภสัชกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมปศุสัตว์ ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
โดยต้องขอจดทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนวิจัยในคนผ่านความร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนเดินหน้าผลิตใช้จริงในคนไทย และในเอเชียต่อไป
ดร.ณรงค์ นิทัศน์พัฒนา นักเทคนิคการแพทย์ (ผู้เชี่ยวชาญ) ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้เป็นเบื้องหลังสำคัญของการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเรบีส์ฝีมือคนไทยครั้งแรก ภายใต้ทุนสนับสนุนหลักจาก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
โดยได้คัดเลือกเรบีส์สายพันธุ์ Rabies virus strain TH 13-42-07240 ซึ่งพบมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากธนาคารเก็บรักษาเชื้อไวรัสของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก่อนนำมาเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อด้วยสาร Beta Propiolactone (BPL) เพื่อให้ได้วัคซีนบริสุทธิ์ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)
ดร.ณรงค์ นิทัศน์พัฒนา กล่าวต่อไปอีกว่า วัคซีนเรบีส์ที่ใช้ในคน ต่างจากวัคซีนเรบีส์ที่ใช้ในสัตว์ตรงความสะอาดบริสุทธิ์ที่มากกว่า จึงต้องอาศัยต้นทุนในการผลิตสูงกว่า เพื่อให้ได้วัคซีนที่เหมาะสม และปลอดภัย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อทุกคนที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเรบีส์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสัมผัสและใกล้ชิดสัตว์โดยตรงนั้น ต้องได้รับวัคซีนป้องกันเรบีส์เป็นประจำ และผู้ที่ถูกสุนัข หรือแมวที่สงสัยว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือขีดข่วน รวมกันแล้วประมาณมากกว่า 2 ล้านโดสต่อปี
อย่างไรก็ดี การพัฒนาวัคซีนเรบีส์ยังต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเพียงพอจากภาครัฐ ซึ่งหากสามารถพัฒนาให้ใช้จริงในคนไทยได้เร็วเพียงใด จะไม่เพียงส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ แต่รวมถึงทั่วเอเชีย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th