ผู้เลี้ยงปลา 6 องค์กร ส่งตัวแทน ยื่นหนังสือนายกเศรษฐา คัดค้านการเปิดเสรีสินค้าปลาฯ ไม่เคยเห็นด้วยในทุกกรณี ขอให้ยกออกนอกกรอบทุกการเจรจาโดยทันที

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ ทำเนียบรัฐบาล – นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นำทีมตัวแทนเกษตรกรผู้เพาะผู้เลี้ยงปลา จาก 6 องค์กร คือ นายอัครินทร์ รวีเลิศอธิโชติ กรรมการสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย (ผู้แทนนายสมาน พิชิตบัญชรชัย นายกสมาคมฯ) นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย นายอมร เหลืองนฤมิตรชัย นายกสมาคมปลานิลไทย นายสมประสงค์ เนตรทิพย์ ประธานชมรมผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำไทย นายพรชัย บัวประดิษฐ์ ประธานแปลงใหญ่ปลานิล ชลบุรี พร้อมเกษตรกรจำนวน กว่า 20 คน เดินทางมาเพื่อร่วมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน เพื่อคัดค้านการเปิดเสรีสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ในทุกกรณี และในการเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ ไทย-เอฟต้า (EFTA ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ) ขอให้จัดเป็นสินค้าอ่อนไหว ยกออกนอกกรอบเจรจาฯทุกกรอบ โดยทันที (ยืนยันไม่เคยเห็นด้วยกับการเปิดเสรีสินค้าปลาฯในทุกกรณี) ขอเก็บภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 5 หรือมากกว่า ฯลฯ เพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาของประเทศฯ โดยมีโดยมีนายพันศักดิ์ เจริญ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือฯ

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ทะลักเข้ามาในประเทศ ปริมาณปีละมหาศาล ทั้งจากการถูกนำไปเปิดเสรีการค้า (ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์) ให้กับบางประเทศ/กลุ่มประเทศ โดยปราศจากความเห็นชอบจากพี่น้องเกษตรกร เช่น ปี 2549 เปิดให้กับจีน (กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน) ทำให้ต้องเปิดเสรี(ไม่เก็บภาษีนำเข้า)ให้กับประเทศอาเซียนโดยปริยาย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการทะลักของปลากะพง ปลาบาซา ฯลฯ จากประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและความเดือดร้อนอย่างหนักต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในประเทศ ตามที่ทราบกัน รวมถึงมีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล (ซาบะ) ปลาคอด ฯลฯ เข้ามาจำหน่ายและบริโภคภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมดูแลปกป้องพี่น้องเกษตรกร อาชีพการเพาะเลี้ยงปลาของประเทศ ที่มีเพียงมาตรการภาษีเก็บภาษีนำเข้าที่ ร้อยละ 5 ( หรือ 5%) รัฐก็พยายามกดดันให้ยกเลิก (และถูกยกเลิกให้หลายประเทศแล้ว โดยปราศจากความเห็นชอบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาฯ ในประเทศ)

สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย สมาคมปลานิลไทย แปลงใหญ่ปลานิลชลบุรี รู้สึกเป็นห่วงและเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพความมั่นคง ความอยู่รอดของพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา-สัตว์น้ำต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลา และสัตว์น้ำ โดยรวมของประเทศ ตลอดสายห่วงโซ่การผลิต รวมครอบครัวจำนวนกว่าล้านคน หลังจากที่มีความพยายาม/กดดันอย่างหนักให้เปิดเสรีการค้า FTA ในสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกรอบ (ไทย- EFTA) -ซึ่งหมายถึงหากเปิดเสรีให้สินค้าปลาและผลิตภัณฑ์จาก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เข้าประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษี (จากปกติที่เก็บ 5% พบปลาที่มาจากประเทศดังกล่าวยังเกลื่อนประเทศ จำหน่ายในราคาถูกกว่ามาก เช่น ปลาซาบะ หรือแมคเคอเรล ปัจจุบันราคาถูกกว่า ปลานิล ขณะที่ปลาแซลมอนยึดตลาดเกลื่อนเต็มเมือง เป็นต้น หากไม่มีมาตรการเก็บภาษี อาชีพการเลี้ยงปลา อาจสูญหาย ประเทศไม่มีความมั่นคงทางอาหาร ต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างเดียว และส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ฯลฯ)

“การจะทำเอฟทีเอ หรือเปิดเสรีการค้าสินค้าปลา เราต้องระวังให้มาก รัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำรงชีพของเกษตรกรฯ เพื่อปกป้องเกษตรกรรายย่อยที่มีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาในประเทศไทย โดยเฉพาะ ปลานิล ปลาดุก ปลากะพง และอื่นๆ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตลอดสายห่วงโซ่การผลิต ถ้าเกิดหมดอาชีพไป ใครจะรับผิดชอบ คุ้มค่าไหมเปิดประเทศให้ปลาต่างประเทศ มาสร้างความเดือดร้อนพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาของประเทศ ผู้นำเข้ามาแปรรูปส่งออกท่านขอคืนภาษีได้อยู่แล้ว ส่วนที่นำเข้ามาจำหน่ายเพื่อการบริโภคในประเทศ ขอเถอะครับ ภาษี 5% คงไม่กระทบผู้บริโภคมากหรอกครับ แต่จะช่วยปกป้องพี่น้องเกษตรกรฯ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ และอื่นๆด้วยนะครับ…” ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวทิ้งท้าย./

0 replies on “ผู้เลี้ยงปลา 6 องค์กร ส่งตัวแทน ยื่นหนังสือนายกเศรษฐา คัดค้านการเปิดเสรีสินค้าปลาฯ ไม่เคยเห็นด้วยในทุกกรณี ขอให้ยกออกนอกกรอบทุกการเจรจาโดยทันที”