๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึง กรณีของเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกหนึ่งในการใช้ทำความสะอาดมือ เพื่อสุขลักษณะที่ดีในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ได้ลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ ในวันนี้ (๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓) กำหนดให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นเครื่องสำอางและต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70 % โดยปริมาตร เนื่องจากหากมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า ๗๐ % โดยปริมาตรจะฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ ซึ่งแอลกอฮอล์ที่ผสมในผลิตภัณฑ์จะเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอธานอล (Ethyl alcohol หรือ Ethanol) ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือ ไอโซโพรพานอล (isopropyl alcohol หรือ isopropanol) เอ็น-โพรพิลแอลกอฮอล์ หรือ เอ็น-โพรพานอล (n-propyl alcohol หรือ n-propanol) โดยอาจเป็นเพียงสารเดียวหรือผสมรวมกันอยู่ตั้งแต่ ๗๐% โดยปริมาตรขึ้นไป ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่ผ่านการจดแจ้งจาก อย. แล้ว ประชาชนจะมั่นใจได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า ๗๐% โดยปริมาตร
สำหรับประชาชนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ขอให้ตรวจสอบเลขที่จดแจ้งก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ ๗๐ % โดยปริมาตรขึ้นไป ตามที่กฎหมายกำหนด และรักษาสุขอนามัยที่ดีของร่างกาย ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบเลขรับจดแจ้งได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” หรือ Oryor Smart Application หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน อย.๑๕๕๖ ส่วนกรณีที่ประชาชนผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ใช้เองก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ปริมาณแอลกอฮอล์ต้องมากกว่า ๗๐ % โดยปริมาตร จึงจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้
“สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์คือจะต้องใช้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง โดยควรลูบให้ทั่วฝ่ามือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ ๒๐-๓๐ วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากใช้แล้วไม่รอให้แห้งไปหยิบจับสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพลดน้อยลง หากรู้สึกว่าผิวแห้งสามารถใช้ครีมบำรุงผิวร่วมได้ และระมัดระวังการเก็บหรือการใช้ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟได้ง่าย อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บได้” เลขาอย.กล่าว