24 กุมภาพันธ์ 2567 นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส ที่พบอัตราป่วยในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2566) เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2561 (จากอัตราป่วย 11 เพิ่มเป็น 27.8 ต่อประชากรแสนคน) และเพิ่มขึ้น 3 เท่าในกลุ่มเยาวชน (จากอัตราป่วย 27.9 เพิ่มเป็น 90.5 ต่อประชากรแสนคน) และพบอัตราป่วยโรคหนองในปี 2566 ในกลุ่มเยาวชน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2565 (จากอัตราป่วย 41.9 เพิ่มเป็น 86.6 ต่อประชากรแสนคน)
ซึ่งอัตราป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 5-9 เท่า อีกทั้ง ข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2562 พบว่า เยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ เพียงร้อยละ 80 และใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งกับแฟน และคนรักไม่ถึงร้อยละ 40
สอดคล้องกับพฤติกรรมและค่านิยมของกลุ่มเยาวชนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์แบบคืนเดียว (One night stand) โดยไม่ตระหนักถึงการป้องกันและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติที่ห้ามกันได้ยาก แต่สามารถป้องกันโรคที่ติดมาจากเพศสัมพันธ์ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง กับทุกคน ทุกช่องทาง หากมีพฤติกรรมเสี่ยง แนะนำให้ทุกคนประเมินตนเองและคู่ หากพบว่า มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะเป็นแผลเดียว แผลสะอาดไม่เจ็บ บริเวณก้นแผลแข็งคล้ายกระดุม แผลหายเองได้ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีผื่นแดง พบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะนูน มีสะเก็ด ไม่คัน เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่หน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อตรวจเลือดคัดกรองโรคซิฟิลิส และรับการรักษาโดยเร็ว
เพราะโรคซิฟิลิสเป็นโรคที่รักษาหาย พร้อมชวนคู่มาตรวจและรักษาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการรักษาควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ อย่างไรก็ตามเชื้อโรคซิฟิลิสอาจอยู่นอกบริเวณที่ถุงยางอนามัยป้องกันได้ ดังนั้น ถ้ามีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง แนะนำให้รีบมาตรวจคัดกรอง
ส่วน โรคหนองใน มักจะมีอาการแสดงในเพศชายที่มีการติดเชื้อบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะ และจะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน ซึ่งอาการที่พบในเพศชาย คือ ปัสสาวะแสบขัด ปวดและบวมที่ลูกอัณฑะ มีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ สำหรับการติดเชื้อที่อวัยวะเพศหญิง ช่องคอ ทวารหนัก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่หากมีอาการของการติดเชื้อที่อวัยวะเพศหญิง จะทำให้ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย หรือเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ มีตกขาว เป็นมูกหนอง หากปล่อยทิ้งไว้เชื้ออาจลุกลามไปถึงมดลูกและปีกมดลูก เสี่ยงภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
อย่างไรก็ตาม หากมีความเสี่ยง แนะนำให้รีบมาตรวจ เพื่อจะทำการรักษาทันทีเพราะ รักษาได้ หายขาด แต่มีโอกาสกลับมาเป็นได้ซ้ำหากมีความเสี่ยงเช่นเดิม จึงเน้นย้ำส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมแนะนำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ (แม้ไม่มีอาการ) จำเป็นต้องตรวจคัดกรองซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาทันที
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 0-2590-3217 , 0-2590-3219