แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ มีภารกิจสำคัญคือ การศึกษาวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งสร้างผลงานวิชาการและนวัตกรรมทางการแพทย์ด้านจักษุวิทยาในระดับเชี่ยวชาญ ตลอดจนให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพ คือ การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ด้านจักษุวิทยาในระดับเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพจักษุ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งทางการแพทย์ที่ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าและศักยภาพด้านการแพทย์ กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว
จึงได้ส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมการถ่ายภาพด้าน จักษุวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งศึกษาดูงาน ณ The Yale Eye Center in New Haven, มลรัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งล่าสุดกรมการแพทย์ขอชื่ยชม นายนิพันธ์ ยอดมณี นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ปฏิบัติงานเครื่องมือพิเศษ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ได้รับรางวัล Honorable Mention,ICG Angiogram “AMD with PCV” 54th Annual OPS Educational Program San Francisco, California. November 3-5, 2023 จากการส่งผลงานภาพถ่ายจักษุเข้าประกวดในงานประชุม จักษุแพทย์ ณ เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรางวัลดังกล่าวเป็นการประกวดภาพถ่ายทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากสมาคม Ophthalmic photographer society เป็นสมาคมที่รวบรวมผู้ใช้เครื่องมือจักษุวิทยาที่ใหญ่ที่สุดและมากที่สุดในโลก
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่บุคลากรของโรงพยาบาลได้รับรางวัลระดับโลกว่า รางวัลที่ได้รับเป็นการบ่งบอกมาตรฐานด้านจักษุวิทยาว่าประเทศไทยมีศักยภาพ ครบวงจร ทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย ระบบบริการผู้ป่วยที่มีคุณภาพ และสิ่งสำคัญนอกเหนือทางการรักษาแล้วคือ การสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย เป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้านจักษุวิทยา พร้อมทั้งเป็นตัวอย่างให้แก่คนรุ่นหลัง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ได้ต่อยอดนำองค์ความรู้ มาถ่ายทอดโดยเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรเครื่องมือพิเศษทางจักษุ (Ophthalmic technicians) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ปัจจุบัน มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมกว่า 15 รุ่น ส่งผลให้บุคลากรมีแรงผลักดันในการทำงานสามารถวางแผนการดำเนินงานเครื่องมือ รู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่ปรับเข้ากับโรค ใช้ประโยชน์เครื่องมือที่มีให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน ได้รับการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือพิเศษทางจักษุอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำถูกต้องที่สุด