สันต์ สะตอแมน
หนัง “เหมรฺย บน บาป สาป แช่ง” รายได้เกิน 50 ล้านแล้วจ้า!
ก็..ขอแสดงความยินดีและดีใจกับคุณเอกชัย ศรีวิชัย ขุนพลนักร้องลูกทุ่งเมืองใต้ ที่เวลานี้ดูเหมือนจะหันมายึดอาชีพ “ผู้กำกับภาพยนตร์” ถาวรแล้ว
จากเรื่องแรก “เทริด” ที่ถือเป็นการเริ่มต้นในบทบาทของ “ผู้กำกับหนัง” ทำให้ผมเกิดความประทับใจ-ตราตรึง นึกไม่ถึงว่านักร้องลูกทุ่งท่านนี้จะมีฝีไม้ลายมือปานนั้น
มาเรื่องที่ 2-โนราห์ แม้จะไม่ค่อยประทับใจมากนัก แต่ก็ยังชอบที่คุณเอกชัยยังคงนำเรื่องราวของศิลปะวัฒนธรรม-ประเพณีของคนปักษ์ใต้มาเล่าต่อ..
เพราะลึกๆ แล้ว ผมก็อยากเห็นหนังประเภทนี้-แนวนี้บ้างบนจอเงิน-จอแก้ว เพื่อที่จะได้อวดคนภาคอื่นเขา ปักษ์ใต้บ้านเรา ไม่ได้มีแต่ทะเล ภูเขา ระเบิด..
วัฒนธรรม-ประเพณีก็มีเสน่ห์ที่น่าค้นหานะ..จะบอกให้!
แต่พอเรื่อง 3-4-5 ก็ค่อนข้างผิดหวังเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่ใช่หนังไม่ดี หากแต่เป็นเพราะไม่ถูกกับจริตของตัวเองเสียมากกว่า จนเมื่อมาได้ดู “เหมรฺย” ล่าสุด..
เออ..คิดได้ไง กับการนำเอาลีลา-ท่วงท่าร่ายรำมโนราห์มาแปลงให้ดูน่าสยองขวัญ-ขนหัวลุก?
ต้องบอก..หนังดี-สนุกพอได้ ถ้าเป็นคนใต้ เห็นจะเสียดายถ้ายังไม่ได้เข้าไปนั่งดูในโรง ไม่ใช่แค่หนังผี แต่ขี้เกียจโม้ ยังมีอะไรอีกเยอะ..เชื่อสิ!
เอ้า..แล้วนั่นไม่เชื่อไม่ได้ เพราะคนพูด-คนให้ข่าวเป็นถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) คุณภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ โดย “ผู้จัดการออนไลน์” รายงานว่า..
“คุณภูสิตเปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่
และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.กัลยา ลีวงศ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
ถึงผลการสำรวจตลาดภาพยนตร์ของไทยในตลาดไต้หวัน และโอกาสในการขยายตลาดภาพยนต์ไทยเข้าสู่ตลาดไต้หวัน ทั้งการเข้าไปร่วมลงทุน และช่องทางในการนำภาพยนตร์ไทยไปเปิดตัว
โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานตลาดภาพยนตร์ไทยในไต้หวันตั้งแต่ ม.ค.-26 พ.ย. 2566 พบว่ามีเข้าฉายรวม 10 เรื่อง ทำรายได้รวม 28.46 ล้านบาท
ถือว่าฟื้นตัวกลับมาใกล้กับภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุด คือ บ้านเช่าบูชายัญ 16.55 ล้านบาท รองลงมาคือ สุขสันต์วันกลับบ้าน 9.25 ล้านบาท
เรื่อง Mae Nak Reborn 3.01 ล้านบาท รักแรกโคตรลืมยาก 1.66 ล้านบาท หุ่นพยนต์ 1.13 ล้านบาท ดับแสงรวี 5.97 แสนบาท อีหนู อันตราย 5.40 แสนบาท บุพเพสันนิวาส 2 5.04 แสนบาท
แอน 1.13 แสนบาท และ อานนท์เป็นนักเรียนดีเด่น 8.7 หมื่นบาท
จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่าหนังผีเป็นแนวภาพยนตร์จากไทย ซึ่งเป็นที่ถูกใจตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก
โดยชาวไต้หวันส่วนใหญ่เชื่อว่าไสยศาสตร์และปรากฏการณ์สยองขวัญในแบบของหนังผีไทยมีความแตกต่างและน่ากลัวในตัวของมันเอง ทำให้เพิ่มความลี้ลับแก่หนังผีไทยมากขึ้น
ส่งผลให้ภาพยนตร์ประเภทนี้ของไทยค่อนข้างเป็นที่โปรดปรานของกลุ่มผู้ชมที่ต้องการความตื่นเต้นและหวาดกลัว โดยหนังไทยที่ฉายในไต้หวันปี 2566 จำนวน 10 เรื่อง
เป็นหนังผีถึง 5 เรื่อง และภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากที่สุดจากการเข้าฉายในไต้หวัน 3 อันดับแรกในปี 2566 ต่างก็เป็นหนังผีทั้งสิ้น”
เอาล่ะ..โปรเจกต์ “บ้านผีปอบ” ที่ผู้กำกับบางท่านกำลังเตรียมปัดฝุ่นขึ้นมาทำใหม่คงจะได้เห็นเป็นจริง-เป็นจังก็คราวนี้
ส่วนผู้กำกับท่านอื่นๆ ถ้าอยากจะเปลื้องหนี้-ได้ลืมตาอ้าปากก็อย่ามัวอืดอาดยืดยาด รีบหาพล๊อต-หาเรื่องผีๆ มาทำกันเร็ว อย่างคุณเอกชัยก็ต้องเร่งตีเหล็กขณะร้อน
ทำ “เหมรฺย” ภาค 2 ด่วนเลย!