16 มกราคม 2567 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดกิจกรรม “เวทีวิชาการพรรคพลังประชารัฐ” ในหัวข้อ “พลิกมุมคิด เรื่องการเงินการคลัง” โดย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ และ ดร.อุตตม สาวนายน ประธานกรรมการด้านนโยบายพรรคพลังประชารัฐ และปฏิรูปประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินรายการโดย ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ณ ห้องประชุมใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ
เพื่อนำเสนอมุมมองที่เป็นประโยชน์ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ซึ่งจะนำเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาลในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบ ที่จะนำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ กล่าวว่า จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เปิดประเด็นการหารือให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจของไทยเพื่อให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและสามารถรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นรอบด้านได้ นับเป็นเรื่องที่สำคัญ และเห็นด้วยกับแนวทางของนายกฯที่ต้องเร่งเข้าไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานาน
ซึ่ง ธปท.มีเครื่องมือที่สามารถแก้ไขได้อีกมาก โดยเฉพาะมาตรการเพื่อให้เกิดการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในระบบ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ แก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ควบคู่ไปกับดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ภาคส่งออกมีความสามารถรับในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้
ปัจจุบัน หลายประเทศกำลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และจีนที่กำลังเผชิญกับปัญหาภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์กำลังจะแตก รวมทั้งปัญหาจากสงครามในยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีสงครามในตะวันออกกลาง เป็นการเข้าไปการรบกวนการเดินเรือในทะเลแดง ซึ่งมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กองเดินเรือพาณิชย์ แนวทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือยุติปัญหาความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งเป็นเรื่องยาก ต่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ สร้างปัญหายืดเยื้อออกไป
อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการใช้นโยบายการคลังเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ได้นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น จึงเห็นว่าถึงเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรเร่งจะหารือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมหาแนวทางที่จะสามารถใช้นโยบายและมาตรการทางการการเงินเข้ามามีบทบาทในแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายด้านดอกเบี้ย และค่าเงินบาทมากขึ้น
ที่ผ่านมาธปท.เน้นการรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวจากสภาวะหนี้ของรัฐบาลในประเทศตะวันตก ประกอบกับสภาวะตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ตนเห็นว่าถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาแนวทางเพิ่มการใช้นโยบายด้านการเงิน เพื่อปูพื้นให้เอกชนเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงได้ดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นเกิดจากภาวะการจ้างงานที่ลดลงส่งผลให้ ครัวเรือนหันมาพึ่งพิงหนี้นอกระบบมากขึ้น
“การใช้นโยบายด้านการเงินให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นนั้น ถ้าทำอย่างระมัดระวัง จะไม่ก่อปัญหาต่อเงินเฟ้อหรือเสถียรภาพการเงิน และถึงเวลาที่เราจะคิดบริหารประเทศด้วยใช้มือทั้งสองข้างพร้อมกัน ไม่ใช่ให้นโยบายการคลังทำงานอยู่มือเดียวเป็นหลักดังนั้น “ต้องชกทั้งสองหมัด ไม่ใช่หมัดเดียว ” นายธีระชัยกล่าว
ดังนั้นการที่รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับธปท. โดยต้องดำเนินการใน 3 ประเด็นหลัก คือ1.การมีวินัยทางการคลัง 2.ลดการใช้เงินภาษีราคาพลังงาน แต่ปรับเปลี่ยน การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างผลกำไรของธุรกิจน้ำมัน และการช่วยเหลือประชาชน 3.มีมาตรการเร่งเพิ่มทักษะ ของแรงงานให้สอดรับกับทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่า ทำให้ ธปท. หามาตรการและนำเครื่องมือมาสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.อุตตม สาวนายน ประธานกรรมการด้านนโยบายพรรคพลังประชารัฐและปฏิรูปประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยปีนี้อยู่ในขั้นวิกฤติหรือไม่นั้นยังเป็นข้อพิจารณาของหลายฝ่าย แต่ก็มีความชัดเจนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นถึงความเปราะบาง และที่สำคัญมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆ และอาจจะยังช้ากว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงจากทั้งสถานการณ์โลก และภายในประเทศเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจในการฟื้นตัวอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาว ยังมีความเสี่ยงจากการขยายตัวในระดับต่ำ ส่งผลต่อการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้คนไทยจะเสียโอกาส ก้าวไม่ทันโลก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ยังเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เกิดการฟื้นตัวพร้อมกับเติบโตต่อเนื่อง เพราะหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เป็นตามเป้าหมาย จะไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายในปีนี้
สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ ที่จะผลักดันให้มีชุดนโยบายการเงินและการคลังที่สอดรับกันอย่างรอบคอบ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในมาตรการแต่ละด้าน ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอ ประเมินผลได้ต่อเนื่อง ประกอบด้วย
1. นโยบายการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ เพื่อให้คนไทยให้ก้าวทันโลก เร่งการลงทุนของภาครัฐและสนับสนุนเอกชนให้ลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งคมนาคมและดิจิตอล อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการพัฒนาทักษะคนไทยทุกช่วงวัย ฯ ซึ่งต้องอาศัยมาตรการการคลังและอื่นๆ เช่น มาตรการด้านภาษี การจัดหาแหล่งทุนและร่วมทุน
2. การเร่งแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาหนี้สินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและธุรกิจ พร้อมสร้างโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมทั้งทางด้านสาธารณสุขและหลักประกันรายได้ชราภาพ เพื่อรับมือสังคมสูงวัย เพื่อให้คนไทยมีความเข้มแข็ง สามารถประกอบอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
3. การเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลัง เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต และปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทาย ในการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งนโยบายการเงินการคลังจะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการนำไปขับเคลื่อนให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เน้นความสมดุลระหว่างการสร้างความเติบโตและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่การกำหนดบริบทของประเทศไทยหรือ Thailand’s narrative ที่ชัดเจนทั้งในปัจจุบันและระยะยาว” ดร อุตตม กล่าว