15 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการล็อบบี้ สว.ไม่ให้ลงชื่อเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ว่า เท่าที่ตนติดตามข่าวในเรื่องนี้ ปรากฎว่ามีการล็อบบี้ที่จะให้สมาชิกลงรายชื่อก็มีจำนวนหนึ่ง ทั้งโทรศัพท์ ไลน์ และพูดคุยกันเพื่อที่จะให้มาร่วมลงชื่อ ให้ได้เกิน 84 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ของคณะที่ดำเนินการในเรื่องนี้
แม้แต่วันนี้ (15 ม.ค.) ก็ยังมีการติดต่อเชิญชวนกัน หลายคน หลายกลุ่ม หลายคณะให้มาร่วมลงชื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยต่อการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นก็มีอยู่ และเท่าที่ติดตามกลุ่มที่ยังอยู่กลางๆ และเฉยๆ รอดูท่าทีก็ยังมีอยู่ เพราะเห็นว่าระยะเวลาในการที่จะยื่นญัตติดังกล่าวยังมีเวลาเหลืออยู่ ขณะเดียวกันก็มีบางพวกบอกว่าที่แล้วมาไม่เคยใช้อาวุธนี้แล้วทำไมมาใช้ตอนนี้ จึงเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่
นายวันชัย กล่าวว่า หากถามว่ากลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวมีลักษณะไม่เห็นด้วยมีการกระทำอะไรหรือไม่นั้น เท่าที่ตนเห็นเขาประเมินในช่วงแรกกันว่าอาจจะไม่ถึง 84 เสียง ฉะนั้น กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร
แต่ระยะนี้เท่าที่ทราบประมาณ 77 หรือเกือบ 80 คน เหลืออีกไม่เกิน 6-7 คนก็จะครบ 84 คน แต่ไม่ได้หมายความว่า 6-7 คน แล้วจะพอ เพราะควรจะมีรายชื่อสนับสนุนเกิน 10 คน เราจะต้องประเมินไว้ว่าถึงเวลาใกล้ๆ ก็เป็นสิทธิ์ที่สมาชิกลงชื่อไปแล้ว หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นถอนตัว ก็อาจจะทำให้ไม่ครบ 84 คนก็ได้
“ฉะนั้นในหลักปฏิบัติของคณะดำเนินการและที่มีการปรึกษาหารือกัน เราบอกว่าควรจะมีรายชื่อเกินอย่างน้อยเป็นสิบสิบคน กันเผื่อขาดเผื่อเหลือ ซึ่งคณะที่ทำก็ดำเนินการอยู่
แต่หากถามว่า ณ เวลานี้การเคลื่อนไหวว่ามีคนมาล็อบบี้ให้ถอนชื่อมีหรือไม่ก็ต้องตอบว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เขาก็อาจจะแสดง หรืออาจจะพูดคุยในลักษณะคนที่ล็อบบี้ให้ลงชื่อ ในขณะเดียวกันก็มีคนล็อบบี้ให้ไม่ลงชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งอะไร ผมถือว่าใครจะรณรงค์ให้ได้เสียงมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละกลุ่ม แต่เท่าที่ประเมิน รายชื่อจะขึ้นอีก 5-6 คน หรืออาจจะมีคนถอย ผมก็ยังคิดอยู่ว่ายังอยู่ในภาวะก้ำกึ่งเหมือนกัน”
ถามว่า มีเหตุผลอะไรที่สว.ที่ไม่ร่วมลงชื่อ จะไม่ร่วมอภิปรายด้วย นายวันชัย กล่าวว่า อย่างที่ทราบ กลุ่มที่เขาไม่เห็นด้วยเขาบอกว่ารัฐบาลเพิ่งจะเริ่มทำงาน 3-4 เดือน งบประมาณปี 67 ก็ยังไม่ได้ใช้ และเราเป็นกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนให้มีรัฐบาลชุดนี้จึงควรเปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือ และใช้งบประมาณเสียก่อน
ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะเร่งเครื่องในลักษณะตรวจสอบในขณะนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเงินดิจิจทัลวอลเล็ตที่หลายคนบอกว่ารัฐบาลเขายังไม่ได้ทำ เพราะยังมีกระบวนการต่างๆอีกมาก หรือเรื่องอื่นๆ เขาก็มองว่าน่าจะให้โอกาสและเวลา
ที่สำคัญที่สุดที่ตนบอกว่ากลุ่มสว.กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ในวุฒิสภา ถ้ากลุ่มนี้ยังไม่ค่อยขยับเท่าไหร่ การขับเคลื่อนในการดำเนินการเรื่องใดๆก็อาจจะไม่ง่ายนัก แต่เท่าที่ตนดูท่าทีของกลุ่มนี้ คือ 1.กลาง และ 2.ไม่เห็นด้วย ส่วนที่มีการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสว.พลเรือน กับสว.อิสระ
ซักว่า หากสว.สามารถอภิปรายตามมาตรา 153 ได้จริง คิดว่าผลกระทบที่จะไปถึงรัฐบาลมีแค่ไหน นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่ประเมินการณ์ เป็นเพียงได้มีการพูด สอบถามเท่านั้น เพราะในการที่ลงมติไม่ไว้วางใจเหมือนสส.คงไม่มี แต่อาจจะเป็นโอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจงข้อสงสัย
ดังนั้น ถ้ามองแบบบวกได้ทั้งสว.ที่แสดงท่าที ในข้อสงสัย เห็นด้วยไม่เห็นด้วยในข้อเสนอแนะนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ ขณะเดียวกันทำให้รัฐบาลได้โอกาสชี้แจงด้วย ซึ่งถือว่าได้ผลบวกด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง สว.กำลังถล่มรัฐบาล สว.กำลังจะมองรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเรื่องอย่างนี้ก็มองได้ เพราะถ้าเป็นพวกกันเขาคงไม่ทำอย่างนี้ อาจจะตั้งเป็นกระทู้ ข้อปรึกษาหารือ หรือดำเนินการด้วยวิธีการอย่างอื่น มากกว่าที่จะอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ และตามรัฐธรรมนูญตามมตรา 153 ต้องการให้รัฐบาลมาชี้แจง แถลงข้อเท็จจริงประเด็นสำคัญอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
ซึ่งเรื่องต่างๆที่เสนอไปเรามองว่าดาษดื่นเกินไป แต่ควรจะเอาประเด็นใหญ่ๆสำคัญๆสัก 1 เรื่อง ที่เปิดมาแล้วกระแทกสังคมได้ ดังนั้นหลายคนที่ไม่เห็นด้วยจึงมองว่าสิ่งที่จะเสนอเยอะเกินไป ยังไม่ใช่อารมณ์ร่วมอาจจะยังไม่มี
เมื่อถามว่า เรื่องชั้น 14 ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องชั้น 14 อาจจเป็นประเด็นหนึ่ง แต่บางกลุ่มก็บอกว่าประมาณเดือนก.พ.กว่าที่สว.จะอภิปรายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็อาจจะได้พักโทษไปแล้วเพราะครบ 6 เดือน ถ้าไปอภิปรายในเรื่องนี้เหตุการณ์ก็อาจจะผ่านไป
แต่ถ้าวันนี้เดี๋ยวนี้อาจจะใช้ แต่เมื่อถึงวันอภิปรายจริงๆประมาณเดือนมี.ค. เรื่องนี้ก็จบไปแล้ว แปลว่าไม่ทัน ซึ่งสว.สามารถทำได้โดยการตั้งกระทู้หรือดำเนินการใดๆเรื่องนี้ในสภาได้ ซึ่งก็มีคนอภิปรายไปแล้ว
“ส่วนตัวไม่ได้ลงชื่อในญัตติดังกล่าวเพราะผมเป็นกลุ่มกลางๆ ยังไม่ถึงขนาดไม่ได้เห็นด้วย และไม่ถึงสนับสนุนหรือคัดค้านเพราะต้องยอมรับว่าถ้าเขาสามารถเปิดได้ ก็อาจจะร่วมอภิปรายด้วย ดังนั้นผมต้องดูท่าทีต่อไป
แต่เห็นว่าหากทำแล้วก็ต้องทำออกมาให้ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้นมีเนื้อหาสาระจริงๆ ก็ทำไปเถอะ”