5 มกราคม 2567 – นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระแรกว่า หากอยากให้ประเทศของเรามีความเจริญและก้าวหน้ามากกว่านี้ ต้องเน้นงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เช่น ถนนทางเท้าการจัดหาน้ำประปา การศึกษาขั้นต้น และอื่น ๆ อีกมากมาย
นายอัคร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทั้งสิ้น 7,850 แห่งแบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่งเทศบาล 2,472 แห่งองค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ในทางปฏิบัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับไม่สามารถดำเนินงานเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านทรัพยากร เพราะฉะนั้นการเพิ่มงบประมาณสู่ท้องถิ่นอย่างสมเหตุและสมผล ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ
“ปัญหาวันนี้ คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้รับการจัดสรรรายได้อย่างเพียงพอจากรัฐตามที่พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 30 วรรค 2 ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ต่อสัดส่วนของรัฐบาล ไม่ต่ำกว่า 20% และตามแผนในปี 2549 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรได้รับไม่ต่ำกว่า 35% ต่อสัดส่วนรัฐ แต่ทำไมประเทศไทยยังไม่เคยจัดสรรงบประมาณสู่ถิ่นสักที ซ้ำร้ายเมื่อปี 2549 ก็ยังมีการแก้ไขปรับลดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 35% ลดลงไปเหลือไม่น้อยกว่า 25% ดับฝันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศในการที่จะได้รับงบประมาณมากขึ้นเพื่อที่จะนำไปแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างตรงจุด”
นายอัคร กล่าวต่อว่า ปี 67 นี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่คณะรัฐมนตรีช่วยปรับเพิ่มงบประมาณเพิ่มมากกว่าปี 66 ถึง 67,000 กว่าล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจำนวน 810,000 กว่าล้านบาท ถ้าคิดจากรายได้สุทธิของรัฐบาลทั้งหมดนี้คิดเป็น 29.06% ซึ่งยังคงไม่ถึง 35% ตามเป้าหมายอยู่ดี ซึ่งตัวเลขดูเหมือนมาก แต่ถ้านำไปกระจายตาม อบจ. 76 จังหวัด เทศบาล 2700 กว่าแห่ง และ อบต.อีก 5300 แห่ง ตัวเลขนี้เรียกว่าน้อยนิดที่จะสามารถนำไปบรรเทาทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในหลายหลายมิติได้
นอกจากนี้ถ้าเราจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของรัฐบาลรายได้ของส่วนท้องถิ่นต่อรายได้ของรัฐบาลในช่วงปี 2552 ถึงปี 2565 พบว่าค่าเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ 27.5% ซึ่งต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีลักษณะการปกครองคล้ายกันยกตัวอย่างประเทศที่มีรายได้สูงเช่น ฝรั่งเศสจะอยู่ที่ 60.2% ฟินแลนด์จะอยู่ที่ 91.5% ญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 133.9% แล้วเมื่อเทียบกับประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับประเทศไทย และมีความพยายามที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่าง อินโดนีเซียก็พบว่าสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นเทียบกับรัฐบาลยังสูงกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัวที่ 46.6%
“สิ่งเหล่านี้ที่ผมได้พูดไปในเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยยังขาดรายได้อีกมาก ในการที่จะนำมาพัฒนาบ้านเกิด เพราะฉะนั้นการเพิ่มทรัพยากรทางการเงินและการคลังสู่ท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ท้ายที่สุดนี้ ตัวผมเชื่อว่ารัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเพื่อพัฒนาประเทศเราอย่างมีประสิทธิภาพ ผมเชื่อและมั่นใจว่า รัฐบาลชุดนี้ภายใต้การนำของท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน จะทำให้งบประมาณท้องถิ่นถึงเป้าหมาย 35% ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ผมมีความหวังและมีความฝันเสมอมาว่า ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างกระโดดไปพร้อม ๆ กันถึงแม้ว่าบริบทของแต่ละท้องถิ่นและท้องที่นั้นต่างกันก็ตาม”นายอัคร กล่าว