วิสัยทัศน์เซลส์แมน – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เปิดประเด็นใหม่

วานนี้ (๒๘ ธันวาคม) นายกฯ เศรษฐา นั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ ที่ทำเนียบรัฐบาล

ผู้เข้าร่วมประชุมระดับบิ๊กเนมเพียบ!

ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการทหารเรือ, รองผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม และหอการค้าฯ ฯลฯ

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์ จะล้มยุทธศาสตร์ชาติ

“ผมไม่เชื่อกับการวางแผน และล็อกตัวเองไว้ยาวนานเกินไป ไม่มีใครที่วางแผนไว้นานขนาดนี้ อย่าว่าแต่ ๒๐ ปีเลย ๕ ปียังทำยาก

โลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง ChatGPT, AI, Quantum Computing หรือแม้กระทั่งเรื่องพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมากำหนดทิศทางโลก

เราเดินทางไปเจรจาค้าขายเมื่อ ๓ ปีที่แล้วดึงคนมาลงทุน แต่ดูเรื่องค่าแรงงานขั้นต่ำที่พวกท่านไม่สนับสนุนเท่าไหร่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะ แต่เป็นเรื่องที่น่าละอายใจ

และยังมีอีกหลายเรื่องที่ ๓ ปีที่แล้วไม่มี เช่น เรื่องพลังงานสะอาด เวลาที่ผมเดินทางไปต่างประเทศจะเป็นเรื่องแรกที่หยิบยกขึ้นมาพูด นี่เป็นตัวอย่างที่โลกเปลี่ยน

เรื่องเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของ war of talent ที่ทุกประเทศทั่วโลกทุ่มดึงดูดเพื่อให้คนที่มีความสามารถไปทำงาน และยังมีเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์สามสี่ปีที่แล้ว สหรัฐก็ไม่ได้มี fiction เยอะขนาดนี้ แต่ขณะนี้มี fiction ส่งคืนในหลายประเทศ…”

แสดงว่า นายกฯ เศรษฐา ไม่ได้ศรัทธาในแผนการพัฒนาประเทศ ๒๐ ปี ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะมาจากภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่การแข่งขันดุเดือด และต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะไปกำหนดแผนงานบริษัทระยะยาว ๑๐-๒๐ ปีก็ใช่เรื่อง

มีหวังเจ๊งไม่เป็นท่า

แต่การพัฒนาประเทศต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ภาคธุรกิจเอกชน ส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารบ่อยนัก

อย่าง นายกฯ เศรษฐา อยู่กับ “แสนสิริ” มาร่วม ๓๐ ปี

ขณะที่รัฐบาลมีวาระ ๔ ปี แต่ส่วนใหญ่อยู่ไม่ครบเทอม

หลายรัฐบาลอยู่ไม่ครบปีด้วยซ้ำ

ฉะนั้นการต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศจึงแทบเป็นไปไม่ได้

เอาแค่รัฐบาลลุงตู่ กับรัฐบาลปัจจุบัน หลังเปลี่ยนรัฐบาล หลายๆ โครงการทำท่าไม่ได้ไปต่อ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

บางโครงการเปลี่ยนรัฐบาล ต้องไปนับ ๑ ใหม่ เพื่อเปลี่ยนเงื่อนไขตามที่รัฐบาลใหม่ต้องการ

หลายโครงการถูกดึงกลับ ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะกันใหม่

หรือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญเกือบจะที่สุด เพราะเป็นกระทรวงสร้างคน การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ แทบหาความต่อเนื่องของนโยบายไม่ได้เลย

เมื่อการศึกษาไทยล้าหลัง ประชาชนก็หัวร้อน ด่ามั่วไปหมด แต่มีใครเคยคิดบ้างว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร

เราแทบไม่มียุทธศาสตร์ในการสร้างคนเลย

หรือแม้แต่ปัญหาคอร์รัปชัน ทุกรัฐบาลเข้ามาล้วนคุยโม้โอ้อวดว่าจะปราบคอร์รัปชันให้สิ้นไป

อยู่ไปๆ คนในรัฐบาลนั่นแหละครับ โกงตัวพ่อ

เพราะมันไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่มีตัวชี้วัดการทำงาน ไม่มีการประเมินอะไรทั้งนั้น

ปัจจุบันการคอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่นักการเมืองแทบไม่อยากพูดถึงนัก

โดยเฉพาะการคอร์รัปชันระดับชาติ!

ฉะนั้นหากยังปล่อยไปอย่างนี้ ยากครับที่ทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไข

ยิ่งการเมืองในปัจจุบันแข่งกันขายนโยบายประชานิยมด้วยแล้ว แทบไม่ต้องมองอะไรไกลเลย เพราะนักการเมืองเอาแต่คิดหาวิธีแจกอะไร อย่างไร เพื่อแลกกับคะแนนนิยม

หากใครเคยอ่านยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐ จะพบว่า มิได้ลงในรายละเอียดว่ารัฐบาลต้องทำอะไรอย่างไร

แต่ให้แนวทางกว้างๆ

วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และตัวชี้วัด

ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดไว้ ๖ ด้าน ซึ่งถือว่าครอบคลุมต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เห็นนายกฯ เศรษฐา โชว์วิสัยทัศน์ว่า “ยังมีอีกหลายเรื่องที่ ๓ ปีที่แล้วไม่มี เช่น เรื่องพลังงานสะอาด”

หากเข้าไปอ่านยุทธศาสตร์ชาติสักนิด ก็จะเห็นว่ามีการพูดถึงปัญหาด้านพลังงานอยู่เช่นกัน

ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการระบุถึงการพัฒนาความมั่นคงพลังงานของประเทศและส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน

นายกฯ เศรษฐา อาจไม่เคยศึกษายุทธศาสตร์ชาติเลย แต่พูดตามคนอื่น ซึ่งแน่นอนว่าได้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนพอสมควร

ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีการพูดถึงความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ

(๑) ประชาชนและภาคีต่างๆ ในสังคมร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ

(๒) บุคลากรภาครัฐยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต

(๓) การปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพ มีความเด็ดขาด เป็นธรรมและตรวจสอบได้

และ (๔) การบริหารจัดการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ

นี่คือกรอบการปราบโกงที่รัฐบาลต้องไปจัดการในรายละเอียด ก็น่าแปลกใจว่าทำไมนักการเมืองถึงได้เกลียดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี หนักหนา

ที่ผ่านมาน้อยรัฐบาลที่จริงจังกับปัญหาคอร์รัปชัน

โลกเปลี่ยนไปเร็วก็จริง แต่ใช่ว่าการวางแนวทางแก้ปัญหา ๒๐ ปีจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย

พูดเรื่องนักการเมืองโกงวันนี้ ใช่ว่านักการเมืองจะเลิกโกงใน ๕ ปี

อีก ๒๐-๓๐ หรือ ๑๐๐ ปีข้างหน้า หากไม่วางยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อแก้ปัญหา

นักการเมืองก็ยังโกงอยู่นั่นเอง

Written By
More from pp
พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ชี้แจง “ไม่ร่วมปิดสวิตช์ สว.”
ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย มีมติไม่ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือการยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาตาม มาตรา 269
Read More
0 replies on “วิสัยทัศน์เซลส์แมน – ผักกาดหอม”