ปชป.ที่ไม่เคยเรียนรู้ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

“พรรคประชาธิปัตย์” ไม่เป็นอะไรหรอก?
“นายควง อภัยวงศ์” ก่อตั้ง เมื่อ ๕ เมษายน ๒๔๘๙ คือ เมื่อ ๗๘ ปีที่แล้ว เป็นยังไง
วันนี้ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังเป็นอย่างนั้น
“คนในพรรค” ประชาธิปัตย์ตะหาก
ไม่รู้เป็นอะไรของเค้า…

ที่ต้องใช้คำว่า “เป็นกันเอามาก” เลยทีเดียว!

เปลี่ยนผู้นำพรรคที พรรคก็แตกที แล้วบอก…คนประชาธิปัตย์มี “อุดมการณ์”

ตรงไหนล่ะ ที่เรียกอุดมการณ์?

แต่คิดอีกที เออ…มันก็มีเหตุผลเชิงวิบัติอยู่เหมือนกัน

เพราะคนพรรคนี้ คุยอวดเสมอว่า “ประชาธิปัตย์เป็นพรรคไม่มีเจ้าของ”

เพราะ “ไม่มีเจ้าของ” นั่นแหละ ตอนเฟื่องฟู จึงอยู่กันเต็ม

แต่ตอนฟุบแฟบ…. “พรรคไม่ใช่ของกู”
ต่างคน-ต่างเผ่น เห็บหนีซากหมาตาย ยังไงก็ยังงั้น พากันท่องคำว่าอุดมการณ์ แล้วโดดไปหาที่เกาะใหม่

นี่…สภาพที่เป็นในสายตาผม เป็นลักษณะนี้

อุดมการณ์ประชาธิปไตยอะไรนั่นน่ะ เหมือนหมาแทะกระดูก อร่อยน้ำลายตัวเอง โดยไม่มีเนื้อหนังใดๆ

“อัตตา” คือการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางผิด-ถูก นั่นตะหาก คืออุดมการณ์ในหลักยึดของคนประชาธิปัตย์

นักการเมือง ผมได้สัมผัสหลายคน แต่กับนายเฉลิมชัย ไม่เคยรู้จักกันเลย ได้ยินแต่กิตติศัพท์ร่ำลือ

แต่เมื่อผ่านการเลือกขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคตามกฎ-กติกาของพรรค

อ้าว…
หลายคนพากันลาออก อ้างนายเฉลิมชัยตระบัดสัตย์บ้าง ไม่โปร่งใสบ้าง ไม่ตรงสเปกอุดมการณ์พรรคบ้าง!

ถามคำ….
นายเฉลิมชัยอยู่พรรคประชาธิปัตย์หลายสิบปีแล้วมิใช่หรือ ทั้งเป็น “เลขานุการ” พรรคด้วยใช่มั้ย?
ก็ใช่

ในเมื่อใช่ แล้วทำไมนายเฉลิมชัยจึงเพิ่งเป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่ตรงอุดมการณ์พรรค เอาตอนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคล่ะ?

สรุปแล้ว แบบไหน คือคนดี คนมีอุดมการณ์ ในสายตาและทัศนคติของสมาชิกพรรค?

ลองยกใครซักคนในพรรค ที่ว่าเป็นคนดี มีคุณสมบัติตามอุดมการณ์ครบ ๑๐ ข้อในกระดาษพรรคมาให้ดูซิ!

สมมติ ถ้าคนนั้น มีมากกว่านายเฉลิมชัย
ถามว่า แล้วทำไมสมาชิกพรรค โดยเฉพาะสส.ซึ่งมีคะแนนเสียงมากถึง ๗๐%ไม่สนับสนุนให้คนดีขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคล่ะ?

คนประชาธิปัตย์ ควรนั่งหันหน้าเข้าข้างฝา
แล้วใช้ “จิตสำนึก” ประกอบด้วยสติ-สัมปชัญญะคิดทบทวนตัวเองให้ตกผลึกก่อน

จากนั้น ค่อยใช้ “ผลึกสติ” พิจารณา-ทบทวนการกระทำตัวเองว่า “ผิด-ถูก,ใช่-ไม่ใช่” มันอยู่ตรงไหน

ต้นเหตุมาจากอะไร จึงทำให้ประชาธิปัตย์ต้องได้รับผล เหลือสส.แค่ ๒๕ คน!?

นายเฉลิมชัย ดี-ไม่ดี, เหมาะ-ไม่เหมาะ นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง

แต่ต้องเข้าใจ นายเฉลิมชัย ไม่ได้ถืออำนาจขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเอง
สมาชิกพรรคมิใช่หรือ ใช้สิทธิ-ใช้เสียง เลือกเขาให้เป็น แต่คนที่ขัดใจ ก็ลาออก

ถามว่า “คนไร้อุดมการณ์” ควรเป็นใครมากกว่ากัน?

จะโทษว่า กฎระเบียบพรรคไม่แฟร์ ที่ให้น้ำหนักสส.ในการเลือกมากกว่าสมาชิกทั่วไป

แล้วกฎระเบียบนี้ ใครร่าง เพิ่งมีใช้ หรือใช้มาทุกยุค-ทุกสมัยแล้ว?

ก็สมาชิกพรรคนั่นแหละร่าง ตอนเลือกนายอภิสิทธิ์, เลือกนายจุรินทร์ ก็ใช้ข้อบังคับเดียวกันกับที่ใช้เลือกนายเฉลิมชัย

สรุปแล้ว “อุดมการณ์” คืออะไร?
จี้รายตัวถาม “ความต้องการตัวเอง” คืออุดมการณ์งั้นหรือ?

มันคือการใช้ “สัญชาติญาน” ตอบสนองปัญหาที่ไร้สติ มากกว่าใช้จิตวิญญานใคร่ครวญหาเหตุ-หาผล ด้วยความรับผิดชอบมากกว่า

ตอนดี ก็อยู่ ตอนไม่ดี พากันทิ้ง

ถ้าเป็นสมัยโบราณ แพ้ศึก ทหาร “ทิ้งบ้าน-ทิ้งเมือง” ไปหาเจ้านายใหม่แบบนี้
“เจ้านายใหม่” ที่ลุ่มลึก เขาจะไม่ให้ราคาเลย

ในเมื่อทิ้งบ้าน-ทิ้งเมืองเอาตัวรอด ครั้นมาอยู่กับเรา จะหาความภักดีได้จากที่ไหน

ซักวัน เมื่อเราพ่าย มันก็จะหาเหตุด่าสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง แล้วไปแสวงหานายใหม่อีก

คนประเภทนี้ เขาจะตัดหัวทิ้ง หรือไม่ก็ส่งไปเสี่ยงตายซักรอบ ถ้ารอด อาจรับไว้ แทงเป็นบัญชีไพร่พลพร้อม “ส่งไปตาย” อีก!

“ประชาธิปัตย์” คือบ้านของสมาชิกทุกคน
เมื่อบ้านใกล้พัง แทนที่จะรวมพลังกัน “ซ่อมแซม-ซ่อมสร้าง” ให้แกร่งขึ้น ตรงกันข้าม ทิ้งบ้าน-เผ่นหนี

มันใช่หรือ?

ในเมื่อประชาธิปัตย์คือ “บ้านของเรา” ทุกคนคือสมาชิกของบ้าน “น้ำลายทอง”

เฉลิมชัยก็สมาชิกร่วมบ้าน “ชอบ-ไม่ชอบ” เมื่อเขาเป็นหัวหน้า ก็ให้เขาทำหน้าที่ผู้นำ “กู้บ้าน” ประชาธิปัตย์หลังนี้ดูก่อนซี

คนมีอุดมการณ์นำพรรค ได้สส.หลักร้อย จนเหลือแค่ ๒๕

ก็ลองให้นายเฉลิมชัยที่ว่าเขาไม่มีอุดมการณ์นำพรรคดูซิ ถ้าได้ต่ำกว่า ๒๕ …
ผมว่านายเฉลิมชัยไม่อยู่ให้อายหมาแน่ ถึงตอนนั้น เห็นคนไหนมีอุดมการณ์ ก็เลือกเป็นหัวหน้าขึ้นแทนนายเฉลิมชัยได้นี่

ผมถึงว่า พรรคประชาธิปัตย์น่ะ ไม่เป็นไรหรอก
แต่ถ้าสมาชิกทุกคน เมื่อไม่ได้ดังใจ ก็พากันทิ้งให้เป็นพรรคร้าง แบบนี้เป็นแน่

ในโลกเป็นจริง “อุดมการณ์” อย่างเดียว เหมือนเก้าอี้มีขาเดียว
ต้องมีทั้ง “อุดมการณ์-อุดมทรัพย์-อุดมปัญญา” ประกอบเข้าด้วยกัน
แบบนั้น คิดการณ์ใด ทำการณ์ใด ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ถึงจะสำเร็จและมั่นคง!

“อุดมการณ์” อย่างเดียว ทำให้คน “คับแคบ-ยึดติด”
“อุดมทรัพย์” กองทัพเดินด้วยท้อง ฉันใด การเป็นนายคน ก็ต้องดูแลทุกข์-สุข ความเป็นอยู่ลูกน้อง ฉันนั้น

ไม่ได้หมายความว่า เป็นหัวหน้าพรรคแล้วต้องโกง แต่ต้องเข้าใจว่า คนมี ๒ บ่า การเดินให้สง่า ต้องบริหาร ๒ บ่าให้สมดุลกัน

บ่าข้างหนึ่ง คืออุดมการณ์ อีกข้าง คืออุดมทรัพย์ ถ้าบริหารได้สมดุล จะไม่มีคำว่าคอร์รัปชัน

จะมีแต่เงินบริจาคเข้าพรรคตามพรบ.พรรคการเมือง จะมีเงินซื้อโต๊ะจีน ในงาน “ดินเนอร์ทอล์ก” ระดมทุนเลือกตั้ง

ได้ยินคำว่า “ล็อบบี้ยิสต์” คู่กับ “สภาคองเกรส” ของสหรัฐฯ เป็นประจำใช่มั้ย?
นั่นแหละคือ “คอร์รัปชัน” ของการเมืองสหรัฐฯ ละ แต่เลี่ยงเรียกซะโก้ว่า “ล็อบบี้ยิสต์”

ที่แท้ ก็คือการติดสินบนสส.-สว.พรรคเดโมแครต-รีพับลิกัน ให้ผ่านเรื่องใด-เรื่องหนึ่งทางสภาดีๆ นี่เอง!

“อุดมปัญญา” คือ ทุกคนในพรรค ต้องรู้จักเดินตามมรรค ๘ ตามข้อที่ว่า “สัมมาอาชีวะ”

หมายถึงการทำมาหากินสุจริต ไม่หลอกลวง ไม่ทรยศ ไม่ต้มตุ๋น ไม่หน้าเลือด

ไม่ทำอาชีพที่เป็นภัย เช่น ค้าอาวุธ, ค้าเนื้อสัตว์, ค้าสิ่งมีชีวิต, ค้าสารเสพติด และสารพิษให้โทษ ฯลฯ

และ “สัมมากัมมันตะ” กระทำชอบ
คือ การกระทำที่เว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย ๓ อย่าง อันได้แก่ งดเว้นฆ่าสัตว์ การงดการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ และงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

แล้วจะให้ “อุดมการณ์-อุดมทรัพย์-อุดมปัญญา” หลอมเข้าด้วยกันได้ด้วยวิธีไหน?

ผมก็ไม่รู้หรอกนะ….
หากแต่น้อมนำที่ “พระพุทธองค์” ตรัสตอบ “สัญชัยปริพาชก” ที่ถามว่า ”หลักการท่านคืออะไร?” เป็นหลักยึด

“พระพุทธองค์” ตรัสว่า……
“เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเรายึดมั่นกับหลักการในชีวิต เมื่อนั้น จะสูญเสียอิสรภาพ กลายเป็นคนยึดติด

จะคิดว่าหลักการของตัวเองนั้น ถูกต้องทุกอย่าง ความเชื่อของตัวเองนั้นถูก ส่วนที่เหลือ ไม่ใช่เรื่องจริง

และเมื่อเสียอิสระทางความคิด เราก็จะยึดติดกับความคิดเดียว มนุษย์ก็จะยิ่งทุรน-ทุราย เป็นจุดเริ่มต้นของความดิ้นรนและความขัดแย้ง

ความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถึงจะเชื่อว่าไม่เชื่อก็ทำให้คนยึดติด ความคิดนี้พลังมหาศาล และมันจับเราไว้อย่างแน่นหนา

การยึดติดกับความคิด คืออุปสรรคใหญ่สุดของการเติบโตทางจิตวิญญาน หากเราติดอยู่ในนั้น ประตูแห่งความรู้อันนิรันดร์ ก็จะไม่เปิดออก

ข้าพูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง หนทางของข้าไม่ใช่หลักการและก็ไม่ใช่ปรัชญา มันคือ “ประสบการณ์” ล้วนๆ ประสบการณ์ของ “ความจริงนิรันดร์”

หนทางของข้าคือการเรียนรู้ มันไม่สามารถยึดติดหรือเอามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวได้เลย

ความรู้ของข้าเสมอเหมือนเรือลำหนึ่ง มีไว้ใช้ข้ามแม่น้ำเพียงครั้งเดียว แต่หลังจากข้ามแล้ว เราก็ไม่ต้องแบกเรือเอาไว้บนหัวอีกต่อไป”

ก็ฝากให้ผู้ยึด “อุดมการณ์-หลักการ” ในประชาธิปัตย์ทั้งหลาย นำไปพิจารณา สร้าง “จิตใต้สำนึก”

จงใช้ “ประสบการณ์” แทน “หลักการ-อุดมการณ์” เถิด
แล้วพรรคประชาธิปัตย์ “จะเกิดใหม่” อีกครั้ง!

เปลว สีเงิน

๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖

Written By
More from plew
แรมโบ้ “คนเคยเกลียด” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน อ่านข่าวนี้แล้วนึกถึง “พระองคุลิมาลเถระ” ขึ้นมาทันที! “องคุลิ” แปลว่า นิ้วมือ “มาละ” แปลว่า พวงมาลัย สำหรับคล้องคอ...
Read More
0 replies on “ปชป.ที่ไม่เคยเรียนรู้ – เปลว สีเงิน”