พระมหาธีรราชเจ้า – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ขอเป็น “คนแก่แลอดีต” ให้รุ่นใหม่มันจำซักวัน
๕๐-๖๐ ปี ที่แล้ว
เมืองไทยหนาวจนน้ำร้องขอผ้าห่ม แต่ผู้คนเบิกบาน ร่าเริง สนุกสนาน ด้วยงานประจำปีหน้าหนาวที่มีให้เที่ยวต่อๆ กัน ชนิดไม่ตกท้องช้าง
จากงานพระรูป งานทอดกฐิน งานพระเจดีย์กลางน้ำ งานภูเขาทอง งานองค์พระปฐมเจดีย์ แห่งละ ๕-๗ วัน แล้ว
ก็มาถึงวันนี้ ๒๕ พฤศจิกา.

งาน “วันวชิราวุธ” ที่วังสราญรมย์ ข้างพระบรมมหาราชวัง ผสมงาน “ลอยกระทง” เรียกว่าเป็น “งานช้าง” ระดับชาติ ที่ปลุกคนทั้งประเทศให้ตื่น จนตาค้าง

เพราะมีการ “ประกวดนางสาวไทย” ที่แต่ละจังหวัด “คัดสาวงามตามธรรมชาติ” ไม่ผ่านมีดหมอ ไม่ต่อเติมเสริมเต้า ส่วนเว้า-ส่วนโค้ง ด้วยซิลิโคน เข้าประกวด

“อาภัสรา หงสกุล” นางงามจักรวาล ปี ๒๕๐๘ กับ “พรทิพย์ นาคหิรัญกนก” นางงามจักรวาลปี ๒๕๓๑
ก็งามเลิศจากเวทีประกวด “นางสาวไทย” ที่ “วชิราวุธ” จากนั้น ก็ไป “งามล้ำในปฐพี” บนเวทีนางงามจักรวาล!

“งานวชิราวุธ” ยุุคนั้น………
คือ “ลมหายใจ” คนไทยทั้งประเทศ ตื่นเต้น-ติดตาม-รอคอย หนังสือพิมพ์แย่งกันทำข่าวขึ้นหน้าที่ ๑ แข่งกันทุกวัน

ว่า “ช้างเผือกในไพร” จากจังหวัดไหน จะงามกว่ากัน และมีหวังได้เป็น “นางสาวไทย” มากกว่ากัน!
ถิ่นเหนือเนี่ย “ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่”

“แมวมอง” แย่งค้นหา “ช้างเผือกในไพร” ส่งประกวดกัน ไม่ต่างตำรวจยกทัพลุยป่าตามหา “แป้ง นาโหนด” ยังไง-ก็ยังงั้น

ตอนเด็กๆ นั่งฟังผู้ใหญ่เขาจับวงวิพากษ์-วิจารณ์กัน จำชื่ออนงค์นางหนึ่งที่ว่า “งามปะล้ำปะเหลือ” ฝังหูจนทุกวันนี้ ว่าชื่อ “สุชีลา ศรีสมบูรณ์”

เธอก็ได้เป็นนางสาวไทยปีนั้นจริงๆ พศ.ไหนจำไม่ได้ จำแต่ว่า ก่อนปี ๒๕๐๐ ก็แล้วกัน จังหวัดเชียงใหม่ ส่งประกวด

ทุกวันนี้ “งานวชิราวุธ” ประกวดนางสาวไทยที่วังสราญรมย์ ไม่มีแล้ว!

คนรุ่นใหม่ ไม่รู้สึกในด้าน “วงจรชีวิตที่ขาดหายไป”
เพราะยุคนี้ มี “วงจรซ้อนวงจร” ประกวดเปรอะไปหมด ประกวดกันจนเรียกไม่ถูกว่าเป็น “นางอะไร?”

จะบอกว่า “นางสาวไทย” ก็ไม่ใช่
เพราะ “ไทยผสม” เป็นส่วนใหญ่ ครั้นจะบอกว่างาม ก็เป็นงามเคาะจาก “เบ้าหน้าเดียวกัน”
จะต่างก็เพียง “ต่างหมอ-ต่างมีด” กันเท่านั้น!

แบบนี้ ไม่รู้จะประกวดไปหา “ตะหวัก-ตะบวย”อะไร?

อยากประกวด ก็ทำให้มันตรงความเป็นจริง ไม่ใช่ไปทำศัลยกรรมกันมา ตม.ดูพาสปอร์ตแล้วบอก “คนละคน” นี่หว่า?

“หญิงสวย-หญิงงาม”…….
มันต้องเป็น “สวยและงาม” ตามธรรมชาติจัดสรร อย่างนี้ตรงเป้าหมายการประกวดสาวงาม

การ “ผ่าตัดใบหน้า-เสริมเต้า-เหลาคาง” นั่นศัลยกรรมจัดสรร เป็นการประกวด “มิสศัลยกรรม” มากกว่า
ควรเปลี่ยนชื่อจาก “ประกวดนางงาม” มิสนั่น-มิสนี่ เป็น “มิสศัลยกรรม”

ให้บรรดา “คลินิกเสริมงาม” ทั้งหลาย ส่งหญิงศัลยกรรมที่ “ยำหน้า-ยำอก” กันเริดแล้ว มาเข้าประกวด-ประชันกัน

ทำแบบสินค้าแบรนนด์เนมที่จ้าง “นางแบบ” มาสวมเสื้อผ้า เพชรนิลจินดา เดินโชว์นั่นแหละ
เป็นการประกวดฝีมือตัดเย็บ-ออกแบบเสื้อผ้า และสินค้า ไม่ใช่ประกวดความงาม “สาวนางแบบ”

อย่างนี้…ใช่ ไม่เฟก

การทำศัลยกรรมประกวดเป็นสาวงาม นี่เฟก!

นี่ผมก็ว่าไปตามประสา “หมาเห็นข้าวเปลือก”
ทีนี้เข้าประเด็นจริงของวันที่ ๒๕ พฤศจิกา.คือ “วันวชิราวุธ” กัน

“มากต่อมาก” ยังไม่รู้ “วันวชิราวุธ” มีความหมายเช่นไร?
ผมจะนำจากเว็บท่ากรมศิลปากร “หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี” มาให้อ่าน ดังนี้
………………………….

เว็บท่ากรมศิลปากร “หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี”
เรื่อง “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (วันวชิราวุธ) ๒๕ พฤศจิกายน”

วัน “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” หรือ “วันวชิราวุธ” เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของ “คณะลูกเสือแห่งชาติ”
และบรรดาลูกเสือ เนตรนารี บุคลากรทางการลูกเสือ ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า

คือ เป็นวันคล้ายวันสวรรคต “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิน ทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย เมื่อ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงมีคุณูปการต่อประเทศไทยในหลายด้าน

ทั้งด้านการคมนาคม การแพทย์และสาธารณสุข ด้านการปกครอง กิจการเสือป่าและลูกเสือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านศิลปและวัฒนธรรมไทย ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

ด้วยคุณูปการดังกล่าว
ทางราชการจึงได้จัดสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์” ของพระองค์ไว้ในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

ที่สำคัญคือ “พระบรมราชานุสาวรีย์” บริเวณหน้า “สวนลุมพินี” ซึ่งรัฐบาล, ประชาชนร่วมใจกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้น

“พระบรมราชานุสาวรีย์” แห่งนี้ได้มีพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
ทางราชการได้กำหนดให้วันที่ “๒๕ พฤศจิกายน” ของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” หรือ “วันวชิราวุธ”

จัดให้มีการ “ถวายบังคมพระบรมรูป” เป็นประจำทุกปี

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”
หรือ “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิน ทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” (๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๓ –๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘)

เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๖ ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓

เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๙ ใน “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช ๒๔๕๓

เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ พระชนมายุ ๔๕ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติ รวม ๑๕ ปี

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา
ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ

ที่สำคัญที่สุด คือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้ นับพันเรื่อง
กระทั่งทรงได้รับการถวาย “พระราชสมัญญา” เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ “ไม่มีวัดประจำรัชกาล”
แต่ทรงสถาปนา “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” หรือ “วชิราวุธวิทยาลัย” ในปัจจุบัน ขึ้นแทน

ด้วยทรงพระราชดำริว่า “พระอารามนั้นมีมากแล้วและการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้น ก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ”

จึงทรงพระราชดำริให้ “สร้างโรงเรียนขึ้นแทน”

ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี
……………………………….

คุณูปการของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๖” ต่อชาติ-ประชาชนทรงมีอนันต์ ถ้า “ศึกษา-เรียนรู้” จะเข้าใจ

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ “พระวิสัยทัศน์ “ขององค์ “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
ในด้าน “การศึกษา” ของ “กุลบุตร-กุลธิดา” ไทย ในความหมายเป็นเหง้าสืบต่อชาติบ้านเมืองไทยไปสู่อนาคต

อดีตกาล วัดคือ “สถาบันศึกษา” ของชาติ
ต่อๆมา มี “โรงเรียน” เป็นสถาบันศึกษาแทนวัด

ด้วยพระวิสัยทัศน์ “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ทรงมองทะลุว่า การศึกษาคือน้ำเลี้ยง “หน่ออ่อน” ให้หยั่งรากหยัดยืนลำต้นคือ “ชาติไทย” ให้มั่นคงธำรงสืบไป

“วัด” เพียงพอแล้ว
พระองค์จึงทรงสร้างโรงเรียนแทนการสร้างวัด!

ทรงมองการณ์ไกลและทรงมองขาดจริงๆ ปกครองประเทศด้วยการ “รดน้ำที่ราก”
คือทรง “บ่มเพาะ” หน่ออ่อน “คือเยาวชน” ทางการศึกษา

เราทั้งหลายวันนี้ โดยเฉพาะรัฐบาล ควรสะท้อนคิดและนำมาทำในทางแก้ไข

คือขณะนี้ ไทยกำลังเข้าสู่ความเป็นประเทศ “คนชรา”
รัฐบาล “ทุ่มงบ” และ “ทุ่มเงิน” แต่ละปีมหาศาล ไปเพื่อเลี้ยงคนชรา ไปสู่อนาคตคือ “หลุม”

ในทางลงทุน ผลตอบแทน = ๐

ย้อนกลับไปมองทาง “เด็กเกิดใหม่” อนาคตของเด็กเกิดใหม่ คือ “อนาคตของชาติ”

เราไม่ได้ทุ่มเงิน-ทุ่มงบลงไปในแปลงเพาะชำ “หน่ออ่อน” นี้ ชนิดมีเป้าหมาย ที่เป็นระบบและต่อเนื่อง

“หน่ออ่อน” คือ “อนาคตชาติ”
การศึกษา “ตรงเป้า-ตรงยุค” คือสารอาหาร

ทุกวันนี้ เรามุ่งเลี้ยง “กิ่งแก่” ละเลย “หน่ออ่อน”
กิ่งแก่ “หัก-ร่วงหล่นไป” ในขณะเดียวกัน “หน่ออ่อน” แทงยอด-หยั่งราก

แต่เมื่อ “หน่ออ่อน” โตชนิด “ขาดสารอาหาร”
อีก ๒๐-๕๐ ปีข้างหน้า “หน่อ” ที่ขาดสารโตเป็นต้น “คืออนาคต”

ถึงวันนั้น…….
“ไทยธำรงไทย” ได้ยืนยงขนาดไหน ช่วยกันคิดนะ!?

เปลว สีเงิน
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

Written By
More from plew
เรื่อง “ฝนกับคนโง่” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “ฝนตกทั่วฟ้า” ดีจริงๆ เมื่อวาน(๒ ตค.๖๕) คงตก “ฉลองใหญ่” ที่ “พลเอกประยุทธ์” คืนทำเนียบ หลัง...
Read More
0 replies on “พระมหาธีรราชเจ้า – เปลว สีเงิน”