๕.๖ แสนล้าน “เส้นทางคุก” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ในความเป็น “กัลยาณมิตร” ทางใจ
ผมขอบอกว่า กรณีแจกคนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป ๕๖ ล้านคน ๆ ละ ๑ หมื่น รวม ๕๖๐,๐๐๐ ล้านบาท นั้น
อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร “ไม่ติดคุก ๑๐๐%!”
แต่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีคลัง, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง, นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงคลัง เป็นต้น
“เฉียดคุก” กว่า ๕๐%แล้ว!

ให้ดูตัวอย่างคดีจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ไว้ เส้นทางเดินอาจไม่เหมือนกัน แต่จากเจตนาและผลที่เกิดตามเจตนา
“จุดจบ” โอกาสเหมือนกัน มีถึง ๙๙%!

ผมเตือนคุณแล้วนะ การเดินหน้าแจก คือหายนะชาติ นั้นคือ หุบเหว การกลับหลังหัน คือ นำโครงการมาทบทวนใหม่ นั้นคือ ฟากฝั่ง

ผู้หลัก-ผู้ใหญ่ ทั้งนักวิชาการ ครูบาอาจารย์ รวมถึงระดับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ออกมาเตือนแล้ว ยังหยิ่งยโส ถือดี ว่ามีอำนาจ ไม่ยอมฟัง

ก็แล้วไป แต่ในฐานะคนมีความปรารถนาดีต่อกัน โดยเฉพาะกับท่านปลัดคลังลวรณ
ยังหนุ่ม-ยังแน่น ถ้าขืนสนองนักการเมืองมากกว่าปกป้องผลประโยชน์ชาติ จงใคร่ครวญตามที่ท่าน “เมธี ครองแก้ว” อดีตป.ป.ช.พูดไว้วันก่อน ที่ว่า……

“……..อย่างสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำโครงการรับจำนำข้าว ตอนนั้น ป.ป.ช. ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย
ทางป.ป.ช.ได้ทำหนังสือเตือนไปหลายครั้งในเรื่องการทำนโยบายรับจำนำข้าว แต่เขาก็ไม่ฟัง

เมื่อไม่ฟัง แสดงว่ามีเจตนาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องพิสูจน์เจตนา

ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ มันใช้ยาก เพราะต้องพิสูจน์เจตนา….

ว่าคุณมีเจตนาจะทำแบบนี้จริงๆ ไม่ได้ทำโดยไม่รู้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือว่า โดยเหตุผลอื่นที่ไม่เข้าใจ

แต่ตอนนั้น รู้อยู่แล้ว แต่ก็ยังทำ รับจำนำข้าว ก็รู้อยู่แล้วว่าจะเสียหาย แต่ก็ยังทำ

เพราะฉะนั้น เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น ถึงไปไม่รอด ติดคุกกันเป็นแถว

แล้วไม่ได้มีแค่นักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงข้าราชการประจำ ที่เป็นเจ้ากี้-เจ้าการ
เพราะหากทำตามคำสั่ง “ตามหน้าที่” ไม่ผิด

หากแต่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า “สนับสนุน” หรือชี้นำรัฐบาลด้วยซ้ำ

ในคดีจำนำข้าว อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ สมัยนั้นที่โดนดำเนินคดีด้วย ได้ชี้นำเลยว่า ให้ทำแบบนี้…ทำแบบนี้
สุดท้าย ต้อง “ติดคุกหมด” สองคน

การปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ชอบ หากเป็นคำสั่งที่ออกมาโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่า แล้ว “ทำตามหน้าที่” แบบนี้ไม่ผิด กฎหมายไม่ลงโทษ

นอกเสียจากว่า ข้าราชการผู้นั้น “จงใจที่จะไปร่วมมือด้วย” อย่างเห็นได้ชัด ที่แบบนี้ ก็ต้องพิสูจน์อีก

เขาบอกว่า ในการไต่สวนของศาล หากคดีไปที่ศาล เขาจะมีการไต่สวนเพื่อพิสูจน์ว่า คุณทำหน้าที่ตามปกติ หรือว่าเป็น “เจ้ากี้-เจ้าการ”

อีกตัวอย่าง ก็คือ คดีปล่อยกู้ “เอ็กซิมแบงค์” จำนวนสี่พันล้านบาท ที่ธนาคารมีการปล่อยกู้ให้พม่า

ที่มีการเอาผิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯในช่วงการปล่อยกู้ และต่อมา ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุกนายทักษิณ

คนที่เป็นผู้บริหารธนาคารเอ็กซิมแบงค์ คนที่เป็นผู้จัดการธนาคารฯ “ไม่ติดคุก” ทั้งที่เป็นคนอนุมัติเงิน
เพราะศาลตัดสินว่า แม้จะเป็นคนอนุมัติเงิน แต่ “เป็นการทำตามคำสั่ง” ของนายกฯตอนนั้น….”

นี่…..
ท่านปลัดลวรณกับคนกระทรวงคลังฟังไว้ แต่ถ้ายัง “เจ้ากี้-เจ้าการ” ให้นักการเมือง อย่างที่กำลังทำ ก็ลองฟังต่ออีกนิด

“………..ตอนนั้นผมก็รู้อยู่แล้วว่าโครงการ (จำนำข้าว) มีอันตราย พอมีการทำโครงการ ก็มีคนมาร้องป.ป.ช.
โครงการแจกเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ก็เช่นกัน ผมทราบว่าขณะนี้ สำนักงานป.ป.ช. เขามีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเหมือนกัน

หากมีคนไปร้องเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ผมว่าเป็นเรื่องแน่

และคนที่จะทำเรื่องนี้ได้ ไม่ได้มีแค่ ป.ป.ช.อย่าง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ก็ได้ หากเขาเห็นว่าโครงการนี้ ทำแล้วจะมีคนเดือดร้อน ทำให้เกิดภาระต่างๆ ขึ้น

เช่น “ภาระทางภาษี” เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นภาระที่ไม่จำเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ก็อาจส่งเสียงขึ้นมาได้ว่า

“การทำโครงการดังกล่าว รัฐบาลทำเกินหน้าที่แห่งรัฐ ใช่หรือไม่?”

คือไม่จำเป็นต้องทำ แต่ไปกระทำ ก็มีสิทธิ์ยื่นต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้ เลือกที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ยังได้”

“ดูแล้ว มีขวากหนามเต็มไปหมด ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเขาจะลุยไฟไปทำไม มีสิทธิ์ติดคุกกันเยอะเลยโครงการนี้ จริงๆ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ

ผมใช้คำว่า “ลุยไฟ” เลย คือหากอยากจะทำ..ก็ทำ แต่รับรองเลยว่า “มีผลแน่นอน”
แล้วก็ไปเสี่ยงดวงเอาแล้วกัน ว่าจะติดคุกหรือไม่อย่างไร?”

ท่านเมธี อดีตป.ป.ช.ยังย้ำหัวตะปูโป้งลงไปว่า

“นโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” เป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้อง
หากต้องการช่วยคนยากจนจริง
มีวิธีการอื่นอีกมากมาย ไม่ใช่มาปูพรหม เหวี่ยงแหแบบนี้”

ท่าน “ปลัดคลังลวรณ” คงทราบ “ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว” นั้น อดีตท่านเป็น “คณบดีเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์”
จึงไม่ใช่ “ขี้เป็ด-ขี้ไก่” อย่างผม

ดังนั้น ด้วยประสบการณ์และด้วยวิชาความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ระดับคณบดีเศรษฐศาสตร์ของท่านเมธี
จึงมี “น้ำหนัก” ที่ต้อง “ตระหนัก”!

นักการเมืองน่ะ ช่างเขาเถอะ เขาเอาตัวรอดได้ แต่ข้าราชการที่สนองตัณหานักการเมืองโดยไม่แยกผิด-แยกถูก

ว่างๆ ท่านลวรณโฉบไปแถวๆ คุก แล้วชะเง้อดูซี จะเห็นข้าราชการ “สนองงานโกง” นักการเมือง ยังติดอยู่หลายคน!

ที่พูดนี่ เพราะห่วงท่าน….
เพราะอย่างน้อย ครั้งหนึ่ง สมัยบิดาท่าน “พลเอกวิโรจน์ แสงสนิท” เป็นรมช.คมนาคม ยุครัฐบาล “อานันท์ ปันยารชุน”

เขาจะซิกแซกกันเรื่องโครงการโทรศัพท์ ๒ หรือ ๓ ล้านเลขหมายนี่แหละ เมื่อปี ๒๕๓๔

บิดาท่านให้ทหารมารับตัวผมเข้าไปที่บ้านพักใน ปตอ.ตรงเกียกกาย โยนแฟ้มเรื่องนี้ให้ผม ๓ แฟ้ม บอกช่วยเอาไปดูให้หน่อย

ผมเห็น “การไม่ยอม” ต่อความ “ไม่ถูกต้อง” ของบิดาท่าน พอมาเห็นท่านปลัดฯ สนองตามกับเรื่องแจกที่ “ไม่ถูกต้อง” นี้แล้ว จึงอยากเตือน

ด้วยไม่อยากเห็นท่าน “ติดคุก” แทนนักการเมืองน่ะ!

เรื่อง ๓ ล้านเลขหมายตอนนั้น มัน “ตุกติก-ซิกแซก” กันยังไง ใครเป็นตัวละครสอดแทรก อยากรู้ให้ขึ้นไปสวรรค์ ชั้น ๑๔ ถามเทวดาเขาดู!

แล้วนี่ ก็เป็นตามที่ท่านเมธีบอก ว่า ป.ป.ช.เขากำลังจับตาอยู่ โดยเมื่อวาน (๑๑ ต.ค.๖๖)

“นายนิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาฯป.ป.ช.แถลงทำนองเราเตือนคุณแล้วนะ ว่า….

“ป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณาจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านใดบ้าง มาร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่วิเคราะห์ เฝ้าระวังโครงการว่ามีความน่าห่วงใยหรือความสุ่มเสี่ยงด้านใดบ้าง

เพราะตามมาตรา ๓๒ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
ให้อำนาจป.ป.ช.ให้คำแนะนำหน่วยงานรัฐและรัฐบาล เพื่อให้วางมาตรการป้องกันการทุจริตหรือข้อน่าห่วงใยที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการต่างๆที่มีความสุ่มเสี่ยงได้

เบื้องต้น ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.จะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกัน

ว่าโครงการมีความสุ่มเสี่ยงหรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่?

จากนั้น ถ้ามีข้อห่วงใย จะเสนอความเห็นไปยังครม.หรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุง

“เหมือนกับโครงการจำนำข้าว ที่ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ หากป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยังครม.แล้ว

หากครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบ ถือว่าเตือนแล้ว แต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ”
………………….

ทีนี้ อาจมีคนสงสัย เศรษฐาบอกไม่ถอย สั่งเดินหน้าโครงการเต็มตัว แบบนี้ ถือว่ามีความผิดหรือยัง?

เอาคำตอบชัดๆ จาก “ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว” เลยดีกว่า ท่านบอกไว้ว่า…

“ต้องรอให้มีการทำโครงการก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการ
มีแต่ความคิด ความผิดจึงยังไม่เกิด

แต่เมื่อมีการใช้เงินแล้ว ตอนนั้น หากเกิดอะไรขึ้น ก็คือความผิดสำเร็จแล้ว”

เปลว สีเงิน
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖

 

Written By
More from plew
ปริญญากับ “บทความ ๓ นิ้ว”
เปลว สีเงิน หดหัวเงียบ ……. ตั้งแต่เกิดเรื่องเป็นผู้อนุญาต “เปิดลานพญานาค” ศูนย์รังสิต ให้นักศึกษาธรรมศาสตร์จัดชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” “ประกาศ ๑๐ ข้อเรียกร้อง”...
Read More
0 replies on “๕.๖ แสนล้าน “เส้นทางคุก” – เปลว สีเงิน”