ต้องบอกว่า “เซอรไพรส์” มาก กับการที่ “กนง.” ประกาศ……
“ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ลง ๐.๒๕% ต่อปี ด้วยมติในที่ประชุม ๕:๒ เมื่อวาน(๗ สค.๖๒)
เพราะโลกร่ำลือ “แบงก์ชาติ” ยุคผู้ว่าฯ “วิรไท สันติ ประภพ” หวงเสถียรภาพการเงิน ยิ่งกว่าจงอางหวงไข่
ถึงขั้น “บลูมเบิร์ก” สดุดีไปทั่วหล้า ว่าบาทไทยที่เคยเป็นต้นตอ”วิกฤตการเงิน” ในเอเชีย เมื่อปี ๔๐
ตอนนี้ “บาทไทย” เป็นสกุลเงินแข็งแกร่งและ “ปลอดภัยที่สุด” ในภูมิภาค จนทั้งโลกหอบเงินหนีภัยมาพักไว้ จนบาทแข็งเด่!
เมื่อไม่คิด-ไม่ฝัน กนง.ลดเปรี้ยง ๐.๒๕% เลยตาค้างกันทั้งตลาด!
กนง.คือ “คณะกรรมการนโยบายการเงิน” ธนาคารแห่งประเทศไทยเดิม..ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ ๑.๗๕% ต่อปี เมื่อประกาศลด ๐.๒๕% ในทันที่เมื่อวาน
เท่ากับว่า ณ ขณะนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทย อยู่ที่ ๑.๕๐% ต่อปี “เงินนอก” น่าจะชะลอการไหลเข้า ช่วยให้บาทไทยอ่อนค่า และนั่น พ่อค้าส่งออกพอจะยิ้มได้บ้าง
ส่งออกยิ้ม สินค้าเกษตร-ประมง ก็ยิ้มไปด้วยกัน ในเมื่อแข่งขันราคาในตลาดส่งออกได้ “สินค้าไทย” ก็จะซื้อง่าย-ขายคล่องขึ้น
เรื่องอย่างนี้ คุยก็คงไม่สนุกเหมือนคุยเรื่อง Lady War ระหว่าง สส.เอ๋-ปารีณา กับสส.ช่อ-พรรณิการ์ ประชันฝ่ามือกันเมื่อไหร่ บอกด้วย ผมต่อสส.เอ๋ ๕-๑ เชื่อมือสาว “ราชรี” อยู่แล้ว!
แต่กับเรื่องลดดอกเบี้ยนโยบายนี้ ขอให้ทนฟังกันซักนิด เพราะการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ …..
สะท้อนมิติ “แบงก์ชาติ” ของผู้ว่าฯ วิรไท ยามประเทศเจอคลื่น จากมรสุม “สงครามการค้า” ลูกโต กนง. “ตัดยอดคลื่น” กลางมรสุมได้เฉียบ แถมได้ปลาโดดลงเรือมาฟรีๆ ๓ ตัว
ตัวแรก นอกจากไม่สะเทือนถึง “เสถียรภาพการเงิน” แล้ว ตัวที่สอง ยังจะแก้อาการ “เงินเฟ้อ” แต่กลับฟุบ หลุดกรอบจวนเจียนจะนำไปสู่ภาวะ “เงินฝืด” เป็นผลพลอยได้
นอกเหนือเป้าหมายการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ที่หวังให้บาทอ่อน เพื่อช่วยการส่งออก อันเป็น “ภาคเศรษฐกิจ” แบบนี้ “พ่อค้าส่งออก”………ควรต้องลุกขึ้นยืน แล้วปรบมือให้ “กนง.-แบงก์ชาติ” เขานะ
แต่ยาขนานนี้ จะช่วยให้บาทอ่อนได้หรือไม่ ยังต้องดู
ในเมื่อ โลกยกให้ไทยเป็น Safe Haven เพราะทุนสำรองกองเป็นภูเขา ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัด รวยเกินซะขนาดนั้น!
การกระทำ ย่อมบ่งบอกเจตนา………
ที่กนง.ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ด้วยเจตนาบนฐานเหตุผลอย่างไร?
ก็ลองฟัง แล้วพินิจคิดตามที่ “คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” เลขาฯกนง.แถลง หลังการประชุม
“เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
จากการ “ส่งออกสินค้า” ที่หดตัว และเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ “อัตราเงินเฟ้อ” มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงิน “ภาวะการเงิน” โดยรวม ยังอยู่ในระดับ “ผ่อนคลาย” เสถียรภาพ “ระบบการเงิน” ได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม
นอกจากนี้ ในด้าน “อัตราแลกเปลี่ยน” นั้น คณะกรรมการ กนง.ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ “เงินบาทแข็งค่า” เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า-คู่แข่ง
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในสภาวะที่การกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น
จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด
รวมทั้ง ประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมด้วย
“นโยบายการเงิน ที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการ “ขยายตัวของเศรษฐกิจ” และเอื้อให้ “อัตราเงินเฟ้อ” ทั่วไป กลับสู่กรอบเป้าหมาย กรรมการจึงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง”
แต่ขอแสดงความเสียใจนิดๆ กับท่านที่มีอาชีพ “ฝากเงินกินดอก” นะครับ เพราะดอกเบี้ย-ดอกหอยของท่าน ต้องหดหายไปบ้าง
ทำใจซะว่า “เพื่อชาติ” ก็แล้วกัน..เนอะ!
มีอะไรควรคุยเป็นการล้างปากอีกล่ะ ช่วงนี้ “นายกฯประยุทธ์” ตกที่นั่ง “ลูกแกะ”
ฝ่าย “หมาป่า” ทั้งตัวเล็ก-ตัวใหญ่ ตัวขี้เรื้อน ตัวชันนะตุ ไม่รู้จากไหน-ต่อไหน คงเห็นว่าได้ที
ฮือออกมาแยกเขี้ยว รุมขย้ำกันตัวละหนุบ-ละหนับ
อ้าง “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ตามบัญญัติ ฉบับที่พวกเขาบอกไม่ดี เตรียมแก้เพื่อฉีกทิ้งนี่แหละ
บอกว่า “นายกฯ นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญานต่อพระมหากษัตริย์ “ไม่ครบถ้วน” ตามมาตรา ๑๖๑
บอกว่า “ผิดรัฐธรรมนูญ” บ้าง
แบบนี้ ยังเข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้บ้าง ถึงขั้นมีโทษทางอาญาบ้าง
ทั้งพรรคและบุคคล พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ฉบับ ๖๐ นี้ ชนิด “เอาเป็น-เอาตาย” ทำหนังสือส่งผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินบ้าง จะส่งผ่านประธานสภาบ้าง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ “ไม่ครบถ้วน” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๑ เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?
เห็นข่าวว่า ทางผู้ตรวจการฯ รับเรื่องไว้ตรวจสอบ ว่าจะส่งตีความได้หรือไม่
ถ้าได้….จะส่งไปศาลไหน ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง?
เมื่อวาน เห็นฝ่ายค้านยื่นกระทู้ในสภาให้นายกฯ มาตอบ แต่พอดีนายกฯไปยะลา รอไว้ยื่นนัดต่อไป
กรณีถวายสัตย์ปฏิญญานครบถ้วนหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถทราบได้
เข้าใจแต่ว่า “พระราชวังดุสิต” นั้น เป็นเขตพระราชฐานการจะได้รู้-ได้เห็น-ได้ฟัง ประการใด “บุคคลภายนอก” ก็ได้รู้-ได้ฟัง-ได้เห็น เฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่เท่านั้น
และเย็นวันนั้น นายกฯ นำคณะครม. เข้าถวายสัตย์ปฏิญาน เฉพาะพระพักตร์ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
เมื่อนายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญานแล้ว “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความว่า
“ขอถือโอกาสนี้ให้พรให้ท่านมีกำลังใจ ความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขและความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน งานใดๆ ก็ต้องมีอุปสรรค งานใดๆ ก็ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องแก้ปัญหา และเข้าหางาน เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานการณ์ โดยแก้ไขให้ตรงเป้าตรงจุด และมีความเข้มแข็งอดทน
ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีกำลังใจ มีพลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ด้วยความถูกต้องต่อไป”
“คนภายนอก” ได้รู้-ได้เห็น-ได้ฟัง เช่นนี้….
เมื่อฝ่ายค้านท้วงติงว่า “ไม่ครบ” จะด้วยกางรัฐธรรมนูญ ดูมาตรา ๑๖๑ ไล่ตามเสียงคำถวายสัตย์ปฏิญานไปทีละคำ
หรือทำหนังสือสอบถามไปยัง “สำนักพระราชวัง” ได้ความแน่ชัดแล้วว่า……..
ถ้อยคำถวายสัตย์ฯ นั้น ทางสำนักพระราชวัง ได้ตรวจทานเรียบร้อยแล้ว ก่อนนายกฯ นำไปกล่าวถ้อยคำ
ต่างๆ เหล่านี้ คนภายนอกเช่นผม ไม่สามารถกล่าวสรุปได้ในประเด็นว่าครบ-ไม่ครบ
กล่าวได้เพียงว่า ปลื้มใจ ที่ ๗ พรรคฝ่ายค้าน เคารพ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเคร่งครัด
ทั้ง ยึดถือ-เทิดทูน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขนาดว่านายกฯ ถวายสัตย์ฯ ยังตามไล่จี้เป็นรายคำ-รายอักษร
ผิดกับที่ก่นด่ารัฐธรรมนูญและประกาศ “ไม่ยอมรับ” มาตลอดแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม ตัวนายกฯ เองพูดถึงเรื่องนี้ ที่ยะลา ว่า….
“เดี๋ยวคงเรียบร้อยนะ เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผิด เขาดูกันที่เจตนา”
ก่อนหน้านี้ ท่านก็บอกว่า “กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ยืนยันว่าได้ทำครบถ้วน ก็คงต้องว่ากันต่อไป เรื่องนี้ ผมจะทำของผมเอง”
นายกฯ พูดดังนี้ ก็ต้องรอดูท่าน ในเมื่อคนจับจ้องมีเจตนาตั้งเป็นธงอยู่ การอธิบายความใดๆ ที่ไม่ตรงเจตนาเขา มันก็ป่วยการ จริงมั้ย?
แต่แปลก……….นักกฎหมายใหญ่ทั้งนั้น ที่ตั้งเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ แล้วไม่ทราบหรือว่า
ศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีอำนาจหน้าที่ “ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ”
สมมุตินายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ฯไม่ครบ นั่นเป็นเรื่องทางการ “ปฏิบัติไม่ครบ”
ปฏิบัติไม่ครบ ไม่ใช่การขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งประเด็นนี้ ไม่น่าเข้าข่ายอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ตามมาตรา ๒๑๐
เพราะไม่ใช่ปัญหากฎหมาย หรือเป็นการขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการล้มล้างการปกครอง
ดังนั้น กล่าวคำถวายสัตย์ฯไม่ครบจริงๆ ก็เป็นเรื่องทางปฏิบัติ ซึ่้งนายกฯก็บอกแล้ว กำลังแก้ไขปัญหาของท่านอยู่
สรุป คือ ในความเห็นผม…..
เรื่องไม่น่าเข้าข่ายที่ศาลฯ ท่านจะรับวินิจฉัย แต่ที่จะยื่นกัน ก็เพื่อให้เกิดประเด็น ทั้งรับหรือไม่รับวินิจฉัย
เพื่อขยายเป็น “เงื่อนไข” นั่นแหละ.