จุด “เริ่มต้น” กับ “สิ้นสุด” #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

เอาแล้วมั้ยล่ะ!
“๑๙ กันยา. ๔๙” รัฐบาลทักษิณ เหิมเกริม “กินรวบประเทศ”
ถูกทำรัฐประหาร “ตกเก้าอี้”
“๑๘ ปี” ผ่านไป ถึงวันนี้ “๒๐ กันยา.๖๗”
“รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทย” ด้วยเป้าหมายตรงกันกับ “ค้าน-ส้มสามนิ้ว” เริ่มปฎิบัติการ “แก้รัฐธรรมนูญ” สู่การกินรวบรอบใหม่

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้…
ชักเร้าใจ ชวนติดตามแฮะ ท่านพ่อแม่พี่น้อง!

เพื่อไทย จับๆ จ้องๆ หยั่งท่าทีประชาชนมาหลายวัน เมื่อวาน (๑๙ กันยา.) “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ประธานวิปรัฐบาล
ก็แบหน้าไพ่…..

“เพื่อไทยจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราวันนี้ (๒๐ ก.ย.) เป็นข้อตกลงระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เราไม่ได้ค้านกันทุกเรื่อง แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ทำร่วมกันได้”

อุ๊ย…เก๋จัง ฝ่ายค้านของทอนกับฝ่ายรัฐบาลของษิณ

สุดท้ายก็เปิดหน้าในตาหมาก “แยกกันเดิน-ร่วมกันตี” ให้เห็น!

เขาจะร่วมกันตีตรงจุดไหนล่ะ?
ก็ตรงจุด “จริยธรรม” และตรง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นก้างขวางคอ ทำให้โจราธิปไตยเข้าสู่เส้นทาง “กินรวบประเทศ” ได้ยากนั่นไง

สรุปว่า “แก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของขบวนการพวกเขาใช่มั้ย?”

ใช่-ไม่รู้ ไม่รู้ “นายวิสุทธิ์” เขาบอกว่า
“เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็ต้องทำร่วมกัน”

แล้วเรื่องอะไรล่ะที่ “เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ” ถึงขนาดต้องรวมหัวกันแก้รัฐธรรมนูญ

วิปรัฐบาลเขาบอกประมาณว่า…
แก้เรื่อง “จริยธรรม” จากที่ทำให้เขมือบยากเป็นเขมือบง่ายนี่แหละ “เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ”

“ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ใครมาเป็นก็โดนหมด จึงไม่ควรสนใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม

ไม่ใช่ว่า ไม่ต้องซื่อสัตย์สุจริต แต่ต้องมีข้อจำกัด เรื่องผ่านมา ๕๐ ปี ยังต้องมาว่ากันอีกหรือไม่?”

นายวิสุทธิ์ “วิปรัฐบาล” เขาว่างั้น คือหมายความว่า

“ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน” ทุกวันนี้ เขา “ซื่อ-บริสุทธิ์” และ “ไร้เดียงสา” จนไม่เข้าใจว่า

“ความซื่อสัตย์สุจริต” และ “มาตรฐานจริยธรรม” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐(๔)(๕)นั้น ว่าต้องขนาดไหนเป็นข้อจำกัด?

นายวิสุทธิ์จึงยกข้ออ้างในการแก้ ว่า

“กฎหมายต้องเขียนให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาร้องเรียนกันไปทุกสิ่ง
มีที่ไหน ทำ “มินิฮาร์ท” ก็ร้อง “หายใจดัง” อีกหน่อยจะร้องหรือเปล่าก็ไม่รู้?”

วุ๊ย…น่ารัก ยังกะ “น้องหมีเนย” แน่ะ!

ทีนี้มาดู เขามุ่งแก้ประเด็นไหนและมาตราไหนบ้าง?

แบ่งเป็น ๖ ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ ๑ แก้มาตรา ๙๘ “บุคคลต้องห้ามลงสมัครตาม(๗)ที่ห้ามคนเคยรับโทษจำคุกที่พ้นโทษมายังไม่ถึง ๑๐ ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ

จะแก้ให้รวมถึงความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ด้วย

ประเด็นที่ ๒ แก้มาตรา ๑๖๐ ว่าด้วยคุณสมบัติรัฐมนตรี ใน ๓ ประเด็น
คือ (๔)มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

แก้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้

(๕)ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
แก้ให้เป็นว่า “ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการในศาลฎีกา”

และ(๗)ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

แก้ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๐ แทน

ประเด็นที่ ๓ แก้กลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี
คือ มาตรา ๒๐๑, ๒๐๒, ๒๒๒, ๒๒๘, ๒๓๒, ๒๓๘ และมาตรา ๒๔๖

ประเด็นที่ ๔ แก้มาตรา ๒๑๑ “องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเจ็ดคน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

เขาจะแก้โดยกำหนดเงื่อนไขเป็นว่า…

“กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว.สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

และการวินิจฉัยว่า มีการฝ่าฝืนตามมาตรา ๑๔๔ ให้ใช้เสียง ๒ ใน ๓ ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน”

ประเด็นที่ ๕ แก้มาตรา ๒๓๕ ว่าด้วยอำนาจของป.ป.ช.กรณีการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งศาลฎีกา

ในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน ๑๐ ปี นั้น

จะแก้ระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน ๕ ปี และไม่เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

ประเด็นที่ ๖ สำคัญระดับ ๕ ดาว++
เพื่อไทย-รัฐบาลและส้มสามนิ้ว-ฝ่ายค้าน เหมือนเอาเพจเจอร์ฝังระเบิด “รัฐประหาร” ผูกติดเอวตัวเอง!

ถือดี เมื่อ “ค้าน-รัฐบาล” ร่วมกันแก้ ด้วยประชาธิปไตยระบบสภา “ปริมาณมือ” คือความชอบธรรมเหนือประเทศ

รัฐธรรมนูญ หมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “คณะร่างรัฐธรรมนูญ” เขาฝัง “สลักระเบิด” ไว้ในมาตรา ๒๕๕ และ ๒๕๖(๘)ประมาณว่า

ตรงไหนบ้าง “แตะได้-แก้ได้” ตรงไหนบ้าง “อันตราย-ห้ามแก้-ห้ามแตะ” เว้นแต่ได้ทำตามขั้นตอนอนุญาต

ขืนบุ่มบ่ามเข้าไปแตะ “สลักระเบิดมวลชน” หลุด จะตูมตามขึ้นมา “ตายหมู่” เอาได้ง่ายๆ!

มาตรา ๒๕๕ ระบุไว้ว่า
“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้”

มาตรา ๒๕๖(๘)กำหนดไว้อย่างนี้….

“ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ

หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฎิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการจตาม(๗)ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม(๗)ต่อไป”

เข้าใจใช่มั้ย …
คือรัฐธรรมนูญ หมวด ๑ หมวด ๒ และหมวด ๑๕ เป็นเรื่องว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ ….ห้ามแตะ

ถ้าจะแตะ คืออยากแก้
ต้อง “ทำประชามติ” ถือถามประชาชนก่อนว่า”ต้องการให้แก้หรือไม่”?

ถ้าผลประชามติให้แก้ ต้องเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไปให้ประชาชนดู ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามร่างนั้นหรือไม่ ถ้าเห็นชอบ ค่อยไปดำเนินการ

เมื่อเสร็จตามขั้นตอนระบบรัฐสภาแล้ว ต้องเอาไปให้ประชาชนดูอีกเพื่อลงประชามติ ว่า โอเค….พอใจ-เห็นชอบหรือ โนเค…ไม่เห็นชอบ ตามนั้นหรือไม่

ถ้า โอเค. รอไว้ ๑๕ วัน ค่อยนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

แล้วทีนี้ การจะให้ผ่านด่านประชามติ “มันยาก” เพื่อไทยบนความเห็นร่วมฝ่ายค้าน เลี่ยงไปใช้ “ช่องหมาลอด” ซะเลย
เพื่อเลี่ยงด่านประชามติ

ก็แก้ด้วยการ “เพิ่มวรรคสอง” ในมาตรา ๒๕๕ ไปซะเลย จากที่ว่า “จะกระทำมิได้”
ให้เป็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “สามารถทำได้”

แล้วแก้(๘)ของมาตรา ๒๕๖ เป็นว่า…
เฉพาะแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ หมวด ๒ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่ต้อง “จัดทำประชามติ”

ส่วน หมวด ๑๕ เรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญ อย่าง คณะรัฐมนตรี เป็นต้น

เรื่องเกี่ยวกับอำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ เช่น กกต.,ป.ป.ช. เป็นต้น”

“ไม่ต้องทำประชามติ”!

พูดง่ายๆ คือฝ่ายการเมืองจ้องล้างแค้น “ถอดอาวุธ” ศาล องค์กรอิสระ

เปิดทางเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าสู่อำนาจให้ฝ่ายตัวเองได้สะดวก ไม่ต้องติดด่านมาตรฐานจริยธรรมที่เข้มงวด!

บอกแล้วไงว่า การเมืองเรื่อง “กินบ้าน-ครองเมือง” จากกันยา.นี้ไป สนุก รับรองความมันส์ ระดับ ๕ ดาว!

แผลสด กลัวทิงเจอร์

หมาขี้เรื้อน กลัวน้ำหน่อไม้ดอง

นักการเมือง กลัวจริยธรรมและศาลรัฐธรรมนูญ

แล้ว “ประชาชน” ล่ะ…กลัวอะไร?

เปลว สีเงิน
๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

Written By
More from plew
ชัยธวัช “ย้ายเขาใหญ่” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ผมละนับถือนาย “ชัยธวัช” ซะจริงๆ! ตอนกระแส “ล้มเจ้า” ปลุกติด “ก้าวไกล” ละก็แหม…เรียงหน้าออกมาชู ๓ นิ้ว...
Read More
0 replies on “จุด “เริ่มต้น” กับ “สิ้นสุด” #เปลวสีเงิน”