ผักกาดหอม
นั่นไง…
ส่อเค้าวันที่ ๔ สิงหาคม ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ จริงๆด้วย
ไม่รู้ “เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม” คิดอะไรอยู่ จู่ๆ ถึงได้กลับลำ บอกว่าวันที ๒ สิงหาคม ยังไม่มีการประชุมแกนนำ ๘ พรรค
การเมืองช่วงนี้ ดูท่าแล้ว นักการเมืองน่าจะเป็นอัลไซเมอร์กันเยอะ พูดอะไรจำไม่ค่อยได้ วานซืนพูดชัดถ้อยชัดคำ
“…ประชุม ๘ พรรคร่วม ในวันที่ ๒ สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย เนื่องจากวันที่ ๑ สิงหาคม ยังคงเป็นวันหยุด หลายคนยังอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่สะดวกมาร่วมประชุม…”
มาวานนี้บอกว่า
“…ยังอยู่ในกระบวนการนัดหมาย ทางผู้ประสานงานยังไม่ได้แจ้งมาให้ทราบ จึงยังไม่รู้ว่า ๘ พรรค จะประชุมกันวันไหน หากทราบแล้วจะแจ้งมีการแจ้งให้สื่อทราบต่อไป…”
ลืมกินยา หรือ ความจำเสื่อม!
ไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่าง เพราะการเมืองช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มแบบนี้ ต้องวางแผนกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง ไม่งั้นจั่วลมเอาง่ายๆ
เป็นได้สูงว่า เพื่อไทย ต้องการรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องที่ประชุมมีมติห้ามโหวตชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ เพราะถือเป็นการยืนญัตติซ้ำ ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๑ เสียก่อน
รู้ผลแล้วถึงจะนัดประชุม
เพราะคำวินิจฉัยที่ต่างกัน อาจกระทบถึงกระบวนการเลือกนายกฯโดยที่ประชุมรัฐสภาได้
หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ก็ง่ายหน่อย เดินหน้าตามแผนเดิมได้ทันที
แต่หากศาลมีคำวินิจฉัย รับคำร้อง และให้หยุดกระบวนการเลือกนายกฯไว้ก่อน อันนี้หนังยาวครับ ต่อลมหายใจให้ก้าวไกลไปโดยอัตโนมัติ
อันที่จริง ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาในแนวทางไหน อาจไม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า สมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่ และ ๕ พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไม่เอาพรรคแก้ม.๑๑๒ ซึ่งก็คือก้าวไกล
แต่การยื้อออกไปนาน ทำให้ความหวังของคนที่รอ ๙ เดือน ๑๐ เดือน ค่อยโหวตเลือกนายกฯ เพราะวุฒิสภาชุดปัจจุบันหมดวาระลง มีมากขึ้น
อาจเหลือ ๗ เดือน ๘ เดือน
อาจมีพ่อขมองอิ่มร้องข้อกฎหมายประเด็นอื่นขึ้นมาอีก เกิดศาลบอกว่าให้หยุดกระบวนการเลือกนายกฯขึ้นมาอีก “ด้อมส้ม” ฉลองใหญ่แน่
เพราะจะเหลือเวลา ๓-๔ เดือนสมาชิกวุฒิสภาหมดวาระ
ทำเป็นเล่นไป มีคนคิดแบบนี้นะครับ
แต่ในแง่ข้อเท็จจริงและกฎหมายนั้นไม่ง่าย
“ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล” อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางวิชาการด้านกฎหมาย ไว้ดังนี้ครับ
“…จุดชี้ขาดสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๖ โดยพิจารณาจากผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ว่า เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงหรือไม่ จากการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๑
สำหรับกรณีนี้ หากพิจารณาข้อกล่าวอ้างในประเด็นเรื่องบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการลงมติของรัฐสภา ถ้าหากจะมีเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน น่าจะเป็น คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่คุณพิธาไม่ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่กลับเป็น ส.ส. และประชาชน จำนวนหนึ่ง เป็นผู้ร้องเรียน
ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า ส.ส. และประชาชน ผู้ร้องเรียน ไม่ได้เป็น บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ย่อมเป็นอันตกไปด้วย
นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ๆ มา ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยมาโดยตลอดว่า ผู้ร้องต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้อง
ดังตัวอย่าง คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๘/๒๕๖๕ ที่วินิจฉัยว่า ตามที่นายระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ยื่นคำร้องว่า การลงมติของรัฐสภาที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขให้มีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ๔๐๐ คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน และกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องในฐานะ ส.ส. ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย…”
ก็…ดูไว้เป็นแนวทางครับ
ไม่รู้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง เนื่องจาก ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ถูกละเมิดโดยตรง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะร้องเองหรือไม่
ถ้าร้องซ้ำ โดยพ่วงคำร้องให้ศาลสั่งหยุดกระบวนการเลือกนายกฯไว้ก่อน เวลาก็อาจทอดออกไปอีก
ขบวนการถ่วงเวลาไม่ให้เลือกนายกฯ รอจนกว่าวุฒิสภาชุดนี้หมดวาระมีจริงครับ
และกำลังพยายามอยู่
แต่สุดท้ายก็อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผลออกมาอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้น