27 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมมาตรการ “ผู้ก่อการดี” ป้องกันการจมน้ำของไทย ภายใต้แนวคิด “Do one thing – Improve one thing – Add one thing” หรือ “เริ่มทำ – ทำต่อ – ต่อขยาย…คนไทยไม่จมน้ำ” ช่วยลดอัตราการจมน้ำของเด็กไทยได้ถึง 33.5% ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563
โดยรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและมีนโยบายเกี่ยวกับเด็กโดยเฉพาะการให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็น สามารถลอยตัวในน้ำหรือรอให้คนมาช่วยได้ การออกกำลังกาย และการเรียนสองภาษา โดยยังได้ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กไทยกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยในทุกปีมีคนไทยจมน้ำกว่า 1,500 คน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการอย่างเด็ดขาดและครอบคลุม โดยได้ริเริ่มกระบวนการดำเนินการป้องกันการจมน้ำภายใต้ชื่อ “ผู้ก่อการดี (Merit Maker)”
ซึ่งตั้งแต่เริ่มในปี พ.ศ. 2558 ผู้ก่อการดีได้ผ่านการพัฒนา และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า WHO ยังได้ชื่นชมประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่าสามารถดำเนินการป้องกันการจมน้ำในระดับชาติได้ และไทยยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการป้องกันในวงกว้าง อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการของรัฐบาลเพื่อป้องกันการจมน้ำได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานในการจัดทำระบบและเครือข่ายการป้องกันการจมน้ำในระดับประเทศอย่างครอบคลุม ทำให้ในช่วงระยะเวลา 6 ปี (ปี 2558 – 2564) เกิดทีมผู้ก่อการดี 4,931 ทีม ครอบคลุม 746 อำเภอใน 76 จังหวัด ส่งผลให้แหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 25,885 แห่ง ได้รับการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เกิดแหล่งเรียนรู้การเรียนการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 746 อำเภอ และเกิดครูสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 38,816 คน
นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์โดยตรง ได้แก่ เด็ก 998,587 คน ได้เรียนว่ายน้ำ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเอาชีวิตรอด เมื่อตกลงไปในน้ำ ประชาชนและเด็ก 74,886 คน ได้รับการฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการช่วยคนที่หัวใจหยุดเต้น ทั้งจากการจมน้ำและจากสาเหตุอื่น ๆ
“การดำเนินการจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต้องเกิดจากความตระหนักรู้ และความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยกันสร้างเกราะป้องกัน สร้างทักษะให้ประชาชนสามารถเอาตัวรอดได้ โดยรัฐบาลได้ร่วมกับทุกภาคส่วนสร้างการรับรู้ให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการจมน้ำ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและประชาชนทั่วไปมีทักษะความปลอดภัยทางน้ำ
โดยดำเนินมาตรการให้ครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด” นางสาวรัชดาฯ กล่าว